xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพีเอฟ” คงเป้าโต 5 ปี ยอดขาย 6 แสนล้าน ยัน “หวัดนก-จีเอสพี” ไม่กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดิเรก ศรีประทักษ์
“ซีพีเอฟ” ยันธุรกิจในจีนไม่กระทบจากไข้หวัดนก 2009 ที่กำลังแพร่ระบาด เพราะธุรกิจหลัก คือ อาหารสัตว์ ไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์ หรือฟาร์มไก่ ส่วนการถูกตัดสิทธิ “จีเอสพี” ในสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะกุ้ง ในเดือน ม.ค.57 ได้มีการปรับกลยุทธ์เตรียมรับมือไว้แล้ว โดยจะใช้ฐานส่งออก “มาเลเซีย-เวียดนาม” ทดแทนเป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบส่งออก ลั่นคงเป้าเติบโต 5 ปี เฉลี่ยปีละ 10-15% ที่ยอดขาย 6 แสนล้านบาท

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เปิดเผยถึงกระแสข่าวเหตุการณ์ไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังระบาดในเม็กซิโก และสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อซีพีเอฟแต่อย่างใด โดยเฉพาะในประเทศจีน เพราะธุรกิจหลักคือ ธุรกิจอาหารสัตว์ ไม่ใช่ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ หรือฟาร์มไก่

ดังนั้น ซีพีเอฟจึงยังคงเป้าการเจริญเติบโตของธุรกิจใน 5 ปีข้างหน้า ด้วยยอดขายที่ระดับ 600,000 ล้านบาท ภายใต้การเติบโตที่ปีละ 10-15% ตามเป้าหมายเดิมที่ได้วางเอาไว้

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีการรายงานถึงสถานการณ์ไข้หวัดนกผ่านสื่อต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จึงไม่จัดเป็นเหตุการณ์วิกฤตที่ทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนก ในทางตรงกันข้าม กลับนับเป็นเรื่องปกติที่สามารถรับรู้ และแยกแยะข้อมูลได้

สำหรับกรณีอียูจะตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้า (GSP) ในสินค้าหลายประเภท ซึ่งรวมถึงสินค้ากุ้งแปรรูปส่งออกของประเทศไทย โดยอาจต้องเสียภาษีที่สูงขึ้นจาก 7% เพิ่มเป็น 20% นั้น คาดว่าจะมีผลทางปฏิบัติในเดือนมกราคม ปี 2557 หรือในอีก 18 เดือนข้างหน้า โดยซีพีเอฟส่งออกกุ้งคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งได้มีการปรับกลยุทธ์เตรียมรับมือไว้แล้ว โดยจะใช้ฐานการส่งออกจากประเทศมาเลเซีย และเวียดนามทดแทนเป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบโดยตรงจากการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ภาครัฐได้มีการวางแผนเข้ามาดูแล และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) เช่นเดียวกันกับที่ทางประเทศมาเลเซียเคยใช้แนวทางนี้ และสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวสิ้นสุดลง

นายอดิเรก กล่าวด้วยว่า จากภาวะราคาเนื้อสัตว์ที่ตกต่ำ จะเห็นได้ว่า เกิดตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว (2554) และยังตกต่ำต่อเนื่องมาถึงช่วงกลางปีนี้ (2555) นั้น เชื่อแน่ว่าภาวะดังกล่าวจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลังนี้ (2555) เนื่องจากการปรับกำลังการผลิต และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดยภาวะราคาที่ลดลงข้างต้น ส่งผลกระทบเพียงในระยะสั้น และน่าจะคลี่คลายในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น