ASTVผู้จัดการรายวัน - “เลขาฯ ก.ล.ต.” เร่งเตรียมความพร้อมในการระดมทุนให้ธุรกิจเอกชนไทยแบบครอบคลุมทั่วประเทศ ก่อนเปิดเสรี AEC จะมาถึงในปี 58 โดยเน้นย้ำบทบาทให้การสนับสนุนใน 4 มิติ ระบุ จีนยืนยันดันคุนหมิงขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำในภูมิภาค ส่วนเซียงไฮ้กำลังจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยในตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้า ด้าน “ซีอีโอแบงก์ซีไอเอ็มบี“ แนะ SMEs ปิดจุดอ่อนการบริหารสภาพคล่องทางการเงินด้วยการรวมกลุ่ม supply chains ของพวกตัวเพื่อร่วมกันบริหารสต๊อกสินค้า-กำลังการผลิต “คุณากร เมฆใจดี” หวั่นซื้อขายหุ้นเสรีอาจเปิดช่องต่างชาติครอบงำกิจการไทยแบบข้ามพรมแดน
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานสัมมนาหัวข้อเรื่อง “โค้งสุดท้ายสู่ AEC รู้ สู้ Free Flow of Investment” โดยผู้ร่วมอภิปรายประกอบไปด้วยคุณากร เมฆใจดี อุปนายกสมาคมส่งเสริมลงทุนไทย, มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์เมย์ แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), ศุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารซีไอบีเอ็ม ไทย จำกัด (มหาชน) และวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บลจ.บัวหลวง
ทั้งนี้ วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนาฯ ได้ขึ้นแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “Creative Investment in The Age of AEC” โดยเขาเน้นย้ำถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ในประเด็นการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ, การเคลื่อนย้ายการลงทุนและเงินทุน การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีความเป็นเสรีมากขึ้น
นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนภาพภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. ใน 4 มิติ คือมิติที่ 1 เป็นเรื่องความพยายามที่จะสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ และการลงทุนของนักลงทุนที่มีความครอบคลุมอย่างแท้จริง มิติที่ 2 สร้างเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรองรับการสร้างโอกาสให้ธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งในการระดมทุนและดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั้งในภูมิภาค และในระดับโลก
มิติที่ 3 จะเป็นเรื่องของความพยายามที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจให้แก่สถาบันที่เป็นตัวกลางในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ธนาคารพาณิชย์ ที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน รวมถึงสำนักตรวจสอบบัญชี มิติที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพการระดมทุนของธุรกิจเอกชนในตลาดแรก และการลงทุนของนักลงทุนในตลาดรองผ่านการใช้เครื่องมืองทางการเงิน
เขายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เนื่องจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนไม่ได้มีผลกระทบแต่เฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ยังขยายไปถึงทั่วทุกจังหวัด และทุกภาค
แต่จากผลสำรวจของ ก.ล.ต.พบว่า บริษัทซึ่งมีธุรกิจอยู่ในต่างจังหวัดและได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น จะมีอยู่แค่เพียง 7% จากบริษัทจดทะเบียนโดยรวมที่มีในตลาด ดังนั้น ก.ล.ต. จึงต้องพิจารณาหาวิธีสร้างความเข้มแข็งให้แก่บริษัทของคนไทยอย่างทั่วทั้งประเทศ ผ่านการจัดทำโครงการหุ้นใหม่ ความภูมิใจของคนต่างจังหวัด
โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมผู้ตรวจสอบบัญชีแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการธุรกิจและระบบการจัดทำบัญชี เพื่อสร้างความพร้อมในการปรับตัวให้แก่บริษัทก่อนจะถึงวันที่ไทยต้องเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้แก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อรองรับการเข้าจดทะเบียนของบริษัทโฮลดิ้งคอมปานีของไทยในต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (Investment Hub) ในการระดมทุนของภาคธุรกิจ และการลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก การปรับเกณฑ์ดังกล่าวยังจะช่วยสนับสนุนให้บริษัทของไทยที่มีบริษัทลูกจำนวนมากมาย สามารถจัดหมวดหมู่ธุรกิจของตัวเองตามประเภทอุตสาหกรรมได้ และธุรกิจทุกกลุ่มต่างๆ ต้องการระดมทุนก็สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดฯ ได้ เขายังย้ำด้วยว่า การที่ ก.ล.ต. ยินยอมให้บริษัทโฮลดิ้งคอมปานีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นั้น ยังจะทำให้ต่างชาติมองเห็นความสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ของไทยอีกด้วย
เลขาธิการ ก.ล.ต. ยังบอกด้วยถึงการทำงานของ ก.ล.ต. ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแนวความคิดไปในหลายๆ ด้านแล้ว เพราะบทบาทที่แท้จริงของ ก.ล.ต. ตามกฎหมายนั้น ก.ล.ต. จะมีหน้าที่ทั้งในด้านการกำกับดูแลและการพัฒนา ขณะที่ประเทศไทยแม้จะอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ไทยก็กำลังเดินไปข้างหน้า บทบาทในการพัฒนาเครื่องมืองทางการเงินและการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. จึงเปรียบเสมือนการปูถนน สร้างสะพานให้ทุกคนขึ้นไปได้ เพราะ ก.ล.ต. เชื่อว่า การพัฒนาที่ดีนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดในแบบที่รุกเข้าไปโดยไม่ต้องรอให้คนจากภายนอกรุกเข้ามาหา
วรพลย้ำว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป และเขาก็ได้มีโอกาสพบปะกับผู้นำ สปป.ลาว ที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว และความสนใจกับเรื่องการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยในอดีตนั้น ผู้เกี่ยวข้องตลาดหุ้นของไทยจะเป็นฝ่ายเดินทางไปพบกันผู้เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบัน ผู้คนจากประเทศอื่นๆ นั้นเป็นฝ่ายเดินทางเข้ามาหารือความช่วยเหลือ และความร่วมมือในการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์กับ ก.ล.ต. ในไทย โดยไม่เว้นกระทั่งผู้ว่าการธนาคารชาติของพม่า
เลขาฯ ก.ล.ต. ยังได้เล่าถึงการหารือกับคณะตัวแทนจากประเทศจีนที่เดินทางพบปะกับ ก.ล.ต. ไทย ทั้งนี้ ตัวแทนจากจีนได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาเมืองคุนหมิงให้ขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการเงินคู่กับเมืองเซียงไฮ้ นอกจากนี้ คุนหมิงยังจะมีการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายทองคำ (physical gold center) ด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น วรพลถือว่า โชคดีที่ไทยมีระบบการค้าทองคำมานานเนื่องจากมีการนำเข้าทองคำจำนวนมากเพื่อใช้ทำเครื่องประดับ นอกจากนี้ ไทยก็ยังมีการพัฒนาตลาดซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่มีผลให้การซื้อขายทองคำของผู้ประกอบการคึกคักอย่างมากจนผลักดันให้ธุรกรรมการซื้อขายทองคำในตลาดล่วงหน้าของไทยได้ก้าวขึ้นสู่อันดับ 4 ของโลก แต่ในปัจจุบัน เขามองว่า ตลาดที่เซียงไฮ้กำลังกลายเป็นตลาดคู่แข่งที่น่ากลัวของไทย
เลขาฯ ก.ล.ต. ยังชี้ด้วยว่า จีนกำลังมีความต้องการที่จะทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินสากลของโลก เมืองคุนหมิงจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พัฒนาให้ใช้เงินหยวนเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าบริการภายในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียด้วย ทั้งย้ำว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม และไม่ใช่เรื่องที่พูดคุยกันบนโต๊ะเฉยๆ กันอีกต่อไปแล้ว
SMEs ต้องใช้กลยุทธ์รวมกันเราอยู่ แบ่งกำลังการผลิตผลิต-สต๊อกสินค้า
ด้าน สุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในกลุ่มอาเซียนคนจะมองเห็นความสำคัญในแง่ความพร้อมด้านทรัพยากร แรงงาน กำลังซื้อ ขณะที่ไทยให้น้ำหนักกับสิ่งเหล่านี้น้อยกว่าเรื่องหุ้น ไทยจึงเป็นตัวอย่างการเคลื่อนย้ายการลงทุน
แต่หากถามว่า ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ควรมอง AEC อย่างไรนั้น เขาเห็นว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องคำนึงถึงคือ พวกตนควรจะย้ายฐานตามบริษัทลูกค้าของตนที่กำลังมีการปรับแผนการลงทุนหรือไม่ หากมีการเปิด AEC และประเทศต่างๆ ได้มีการปรับลดกำแพงภาษีแล้ว บริษัทที่เป็นลูกค้าของเราในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปหาคู่ค้าใหม่หรือไม่ แม้ว่า SMEs ไทยจะไม่ไปต่างประเทศก็ตาม แต่ SMEs จากข้างนอกก็จะเข้ามาอยู่ดี
นอกจากนี้ เขายังมองว่าไทยมีตัวผลักดันเศรษฐกิจอยู่หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วน และเทคโนโลยี ซึ่งต่างประเทศมองศักยภาพผู้ประกอบการไทยดีกว่าที่พวกเรามองตัวเอง แต่ปัญหาที่ SMEs ไทยจะแพ้ และตกเป็นรองบริษัทขนาดใหญ่คือ การบริหารสต๊อกสินค้า และการบริหารระบบสภาพคล่องทางการเงินในกิจการมากกว่าปัญหาการหาแหล่งเงินทุนในการกู้ยืม
โดยเขายกตัวอย่าง SMEs ที่ทำธุรกิจกับห้างขนาดใหญ่อย่างเทสโก้ที่มีความได้เปรียบมากกว่าในแง่สภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากการขายสินค้าที่ได้รับเป็นเงินสดทุกวัน ขณะที่ห้างแห่งนี้จะกำหนดเวลาชำระเงินจากการสั่งซื้อสินค้าให้ SMEs ไทยยาวนานถึง 90 วัน ขณะเดียวกัน SMEs ก็ยังต้องพยายามรักษาสต๊อกสินค้าของตัวเองด้วย
“ใครเป็น SMEs ให้เทสโก้ก็จะมีจุดอ่อน 90 วันกว่าจะได้เงิน ปัญหาคือ SMEs จะทำอย่างไรในการบริหารสภาพคล่อง สต๊อกสินค้า ในบางพื้นที่ที่ผมเห็นเขาจะจับกลุ่มกัน เช่น ใน supply chains กลุ่มสิ่งทอกับฟอกย้อมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ก็จะช่วยกันวางแผนสต๊อกสินค้าและกำลังการผลิต จริงๆ แบงก์ก็ทำให้ได้โดยเข้าไปเป็นตัวกลาง” ศุภัคกล่าว
ส่วนในแง่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียนที่ทำให้นักลงทุนมีความคล่องตัวมาก และจำนวนนักลงทุนก็จะมีเพิ่มมากขึ้นนั้นจะกลายเป็นการบ้านสำหรับกลุ่มธุรกิจการเงินในเรื่องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน หลายประเทศมีการพูดกันในแง่ที่ว่า ฟิลิปปินส์เริ่มมีเสถียรภาพทางการเมือง และตลาดหุ้นจาการ์ตาก็เป็นตลาดหุ้นที่กำลังร้อนแรงอย่างมาก
ในปัจจุบัน เนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน และผู้คนเริ่มมีรายได้มากขึ้น โดยพิจารณาได้จากยอดขายรถยนต์ในตลาดฟิลิปปินส์ที่แซงหน้าเมืองไทยเมื่อปีก่อน และปัจจัยดังกล่าวนี้คือเหตุผลที่ทำให้บริษัทโตโยต้าไปจากเมืองไทย เพราะต้องการจะเปิดตลาดใหม่ในฟิลิปปินส์
หวั่นใจซื้อขายหุ้นเสรีเปิดช่องต่างชาติครอบงำกิจการไทย
ด้านคุณากร เมฆใจดี อุปนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยกำลังจะบุกออกไปลงทุนอาเซียน โดยเริ่มจัดการกับตัวเอง และลดบทบาทการทำธุรกิจในกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของตนลง และโอกาสที่บริษัทขนาดใหญ่จะร่วมมือกับ SMEs นั้นเขายืนยันว่า มีแน่นอน โดยเขายกตัวอย่างโอกาสที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับกลุ่ม SMEs ที่ทำธุรกิจลอจีสติกส์
นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า เลขาฯ ก.ล.ต. ได้ยืนยันให้การสนับสนุนการทำ Corporate Venture และ Capital Venture ให้ SMEs ในทุกรูปแบบ ทั้งยังได้แนะนำให้ SMEs ควรสมัครเข้าเป็นสมาชิกในสมาคมการค้าของตัวเองด้วย เนื่องจากสมาคมการค้าจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ SMEs สามารถเชื่อมโยงตัวเองมาถึงสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมธนาคารไทยได้ ซึ่งจะทำให้ SMEs สามารถหาข้อมูลได้ดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม อุปนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยยังแสดงความห่วงใยถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีความเป็นเสรีมากขึ้นนั้นอาจจะทำให้เกิดการครอบงำกิจการธุรกิจคนไทยโดยชาวต่างชาติผ่านการซื้อขายหุ้นแบบข้ามประเทศได้
ส่วนวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจกองทุนรวม บลจ.บัวหลวง ให้ความเห็นในมุมมองการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มอาเซียนนั้น แม้จะมีโอกาสจากที่มีของดีอยู่ใกล้ก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคของไทยนั้นคือ ความรู้ รวมถึงทุนทรัพย์ที่อาจมีไม่มากพอของนักลงทุนไทย เนื่องจากที่ผ่านมา นักลงทุนไทยก็ลงทุนกันน้อยมาก เพราะคนไทยไม่นิยมลงทุนในหุ้นจากที่มีความเสี่ยงมากเกินไป อีกทั้งการลงทุนก็เป็นการลงทุนระยะสั้นๆ แต่หากไทยสามารถปรับแนวคิดของตัวเองได้จริง การเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์กลุ่มอาเซียนก็น่าจะมีประโยชน์
เชื่อมโยงตลาดหุ้นอาเซียน ช่วย นลท. ผู้ร่ำรวยไม่ต้องเสียภาษีลงทุน
ขณะที่ มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บอกว่า ตามหลักการค้าเสรีนั้น แต่ละประเทศจะมี winner ของตัว และอาจจะมี winner มากขึ้นได้เมื่อมีการเปิดเขตแดน และเพิ่มความมีเสรีเพราะคนในประเทศของตนสามารถทำได้ดีในประเทศอื่น เช่น กิจการอาหาร รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เดิมไทยไม่เคยรู้เลยว่า เราใหญ่จริง และมีความสำคัญต่อโลกจนเมื่อปีที่แล้ว ส่วนในด้านธุรกิจค้าปลีกนั้น เขามองว่า ไทยมีประชากร 60-70 ล้านคน การทำธุรกิจด้านนี้ในไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ส่วนที่สิงคโปร์นั้นอาจค่อนข้างจะตัน
ในแง่ของหลักทรัพย์จะมี 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรก เรื่องการเปิดกว้างจะทำให้เงินไหลเข้าไปสู่ winner ในแต่ละประเทศมากขึ้น ประเด็นที่ 2 คือ การกระจายความเสี่ยงที่มองในมุมมองของนักลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่ดี แต่มีความเสี่ยงลดลง ซึ่งถือเป็นหลักการของการเชื่อมโยง AEC แต่ปัจจุบัน คนรวยก็ไปลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่การทำ ASEAN Linkage ของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนนั้นจะช่วยในเรื่องการยกเว้นภาษี