“อารักษ์” เปิดโครงการโซลาร์ฟาร์มโคราช 3 เผยรัฐบาลหนุนอุตสาหกรรมพลังงานเชิงยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับภูมิภาค ด้านผู้บริหารเอสพีซีจี หวังไทยเป็นผู้นำระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน วางเป้าติดตั้งโครงการโซลาร์ฟาร์ม 34 แห่งในปี 56 ด้านผู้บริหาร บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง เผยทุ่มงบ 3 พันล.พัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งองค์กร
เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดโซลาร์ฟาร์มโคราช 3 โดยมี น.ส.วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช 3) จำกัด พร้อมด้วยนายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จำกัด ให้การต้อนรับ ณ โครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 3) เลขที่ 88/8 หมู่ 4 ตำบลสามเมือง อ.สีดา จ.นครราชสีมา
นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน ได้กล่าวภายหลังจากเปิดงานว่า รัฐบาลมีนโยบายด้านพลังงานในการส่งเสริม และผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ซึ่งเป็นถือเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เพิ่มการลงทุนในโครงการพื้นฐานด้านพลังงาน และพัฒนาให้เป็นศูน์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาค โดยใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิยุทธศาสตร์ ตลอดจนสร้างเสริมความมั่นคงทางพลังงาน แสวงหา และพัฒนาแหล่งพลังงานและระบบไฟฟ้าจากทั้งใน และต่างประเทศ รวมทั้งให้มีการกระจายแหล่ง และประเภทพลังงานให้มีความหลากหลายเหมาะสม และยั่งยืน
ขณะที่ น.ส.วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุน และคำแนะนำแก่บริษัท เอสพีซีจี มาโดยตลอด จนบริษัทสามารถประสบผลสำเร็จ ถือเป็นการสร้างอาชีพ และสร้างเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี และนอกจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว บริษัท เอสพีซีจี ยังได้รับการสนับสนุนโครงการจากผู้บริหารในระดับจังหวัด อำเภอ และผู้นำท้องถิ่นอีกด้วย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อุตสาหกรรมจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอสีดา และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามเมือง ซึ่งต้องขอขอบคุณ และถือว่าทุกคนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย เป็นชาติผู้นำด้านการพัฒนาระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน
น.ส.วันดีกล่าวว่า การเลือกสถานที่ จ.นครราชสีมาเป็นที่ตั้งในการจัดทำโครงการโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากเป็นที่ราบสูง ไม่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีความเข้มของแสงที่ดีมีประสิทธิภาพต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กระบวนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดอันตราย ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความมั่นคงเป็นพลังงานที่สะอาด ลดภาวะโลกร้อน และที่สำคัญ บริษัทฯ มีเจตนารมณ์ที่จะให้โซลาร์ฟาร์มเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งในด้านการจ้างงาน การให้ความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และการสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ในพื้นที่
ทั้งนี้ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มแล้วเสร็จ และจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้ว รวม 9 โครงการ ทุกโครงการมีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เนื่องจากบริษัทฯ ได้เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพทั้งใน และต่างประเทศ เช่น แผงเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เคียวเซร่า จากประเทศญี่ปุ่น เครื่องแปลงไฟฟ้า จากบริษัทประเทศเยอรมนี หม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่ได้รับรองคุณภาพจากกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว สำหรับวิศวกร และผู้รับเหมาติดตั้งเป็นแรงงานไทยล้วนๆ และยังได้นำระบบ SCADA มาใช้ในโซลาร์ฟาร์ม สามารถควบคุมการทำงานของหม้อแปลงแต่ละตัว เก็บบันทึกข้อมูลประเมินผลการทำงานของการผลิตไฟฟ้าในโซลาร์ฟาร์ม ส่งอ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ในระบบ CDMA เพื่อส่งข้อมูลไปยัง Monitoring Center ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่เหลือ บริษัทฯ จะเร่งดำเนินการก่อสร้าง และจายไฟฟ้าให้เสร็จภายในปีนี้ร่วม 16 โครงการ และจะแล้วเสร็จทั้งหมด 34 โครงการในปี 2556
ด้านนายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ การพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทน ถือเป็นหนึ่งในสามธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดยมุ่งเน้นขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ เพื่อตอบสนองนโยบายกระทรวงพลังงานที่ต้องการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ และเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้าด้วยการใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถพัฒนากำลังผลิตจากพลังงานทดแทนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 100 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 15 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 11 แห่ง ซึ่งบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีส่วนช่วยผลักดันแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของบริษัทฯ ให้บรรลุผลสำเร็จ ด้วยศักยภาพความแข็งแกร่งของบริษัทฯ และความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตไฟฟ้า บริษัทฯ พร้อมที่จะผนึกความร่วมมือกับเอสพีซีจี พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งอื่นๆ ต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ภายหลังเสร็จพิธีเปิดโครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 3) อย่างเป็นทางการผ่านพ้นไปแล้ว นายอารักษ์ และ น.ส.วันดี ได้ร่วมกันมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 50 ทุน รวมทั้งมอบหนังสือแก่ห้องสมุดจำนวน 3 โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กจำนวน 3 แห่ง และเยี่ยมชมโครงการ และการทำงานของโครงการโซล่าฟาร์ม (โคราช 3) ด้วย
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์ม (โคราช 3) ของบริษัท โซล่า เพาเวอร์ (โคราช 3) จำกัด เป็น 1 ใน 34 โครงการของบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ที่กระจายไปอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตั้งอยู่ในเขตอำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา บนเนื้อที่ 95 ไร่ 31 ตารางวา โดยมีมูลค่าการลงทุน ประมาณ 650 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นหลักได้แก่ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ทุนจดทะเบียน 162.5 ล้านบาท ที่เหลือได้รับการสนับสนุนเงินกู้เพื่อพัฒนาโครงการจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบจำหน่ายเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2555