xs
xsm
sm
md
lg

CIRKIT เร่งฟื้นกิจการหลังน้ำลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ แจงงบหลังจากน้ำท่วม และเลิกจ้างพนักงาน 982 คน พร้อมจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และตามสัญญาจ้างทั้งสิ้นเป็นเงิน 194.31 ล้านบาท และเมื่อน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ คาดว่าต้องใช้เวลา 1 ปีเพื่อฟื้นให้ธุรกิจกลับมาปกติ พร้อมจ่ายให้แก่ผู้บริหาร 3 ท่าน ตามสัญญาจ้าง 36 เดือน เป็นเงิน 39.41 ล้านบาท

นายเอกมินทร์ งานทวี กรรมการ บริษัท เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ CIRKIT แจงกรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบ ซึ่งตามที่บริษัทฯ ได้นำส่งงบการเงิน ประจำปี 54 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินดังกล่าว โดย

1.ลูกหนี้การค้า และการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ผู้สอบบัญชีไม่สามารถส่งหนังสือยืนยันยอดคงเหลือสำหรับลูกหนี้การค้าต่างประเทศรายใหญ่ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนแล้วในปี 2548 ปัจจุบัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งไม่ติดตามการชำระหนี้ ดังนั้น บริษัทฯ ได้ให้ฝ่ายกฏหมายฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ต่อไป

2.การเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และเงินชดเชยการเลิกจ้างผู้บริหาร 3 ท่าน เนื่องจากเหตุวิกฤตอุทกภัยน้ำท่วม บริษัทฯ ได้ประเมินความเสียหายในเบื้องต้น คาดว่า จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี บริษัทฯ เห็นว่าในขณะนั้น การเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด รวมทั้งผู้บริหาร 3 ท่าน จะเป็นผลดีต่อบริษัทฯ มากกว่าที่จะต้องรับภาระการจ่ายเงินเดือน อีกทั้งบริษัทฯ สามารถจัดโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมได้ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ ซึ่งผู้สอบบัญชีมีความเห็นว่ารายการดังกล่าวมีจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งควรผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ บริษัทฯ จะแจ้งเจ้าหนี้พร้อมกับการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมเจ้าหนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

3.ความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทฯ บริษัทฯ ประสบเหตุการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบให้เครื่องจักร, สต๊อกสินค้า และอาคารบางส่วนได้รับความเสียหาย จำเป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราว และบริษัทฯ มีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวมจำนวน 3,619.11 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถเปิดดำเนินการผลิตบางส่วน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า และจะดำเนินการขอแก้ไขฟื้นฟูเพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ 1-1 ปีครึ่ง คาดว่า จะมีการประชุมเจ้าหนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

พร้อมกันนี้ CIRKIT ยังชี้แจงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ณ 31 ธันวามคม 54 ว่า เนื่องจากบริษัทฯ อยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทฯ จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด โดยได้บันทึกผลประโยชน์พนักงานเมื่อเลิกจ้างเป็น 194.31ล้านบาทนั้น

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามว่า หลังจากน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ บริษัทฯ ได้มีการประเมินสถานการณ์ซึ่งในช่วงเวลานั้น บริษัทฯ ยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถฟื้นฟูกิจการให้กลับมาดำเนินกิจการได้หรือไม่ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่บริษัทฯ จำเป็นต้องติดต่อ และวางแผนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในระยะยาว และเพื่อให้สามารถดำเนินการและชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จ บริษัทฯ จำเป็นต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1.เลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 982 คน เนื่องจากบริษัทฯ ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หากบริษัทฯ ต้องรับภาระจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานตลอดระยะเวลาดังกล่าว จะต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท และบริษัทฯ ไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมได้ ซึ่งทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานรายเดือน และผู้บริหารทั้งหมดในวันที่ 31 ธันวาคม 54 และพนักงานรายวันทั้งหมดในวันที่ 6 มกราคม 55 โดยจะต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และตามสัญญาจ้างทั้งสิ้นเป็นเงิน 194.31 ล้านบาท โดยเงินชดเชยจำนวนนี้ รวมเงินชดเชยที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้บริหาร 3 ท่าน ตามสัญญาจ้าง 36 เดือน จำนวนเงิน 39.41 ล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานทั้งหมดไปบางส่วนจำนวน 3 เดือนเมื่อวันที่ 10 มกราคม 55 เป็นเงินประมาณ 43  ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงาน (พนักงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน) โดยส่วนที่เหลือ คาดว่าบริษัทฯ จะขอความเห็นชอบพร้อมกับการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งคาดว่าจะประชุมเจ้าหนี้ภายในเดือนมิถุนายน 55 และจ่ายให้พนักงานเมื่อได้รับเงินจากบริษัทประกันภัย อย่างไรก็ตาม ได้มีพนักงานส่วนใหญ่ยื่นข้อเรียกร้องผ่านกรมแรงงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่ศาลแรงงานภาค 1 ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นปัญหาที่กรมแรงงานจังหวัดฯ และที่ศาลแรงงานปัจจุบัน ได้มีการว่าจ้างพนักงานประมาณ 90 คน กลับเข้ามาทำงานเพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการ โดยเริ่มทยอยการจ้างงานตามความจำเป็นตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ในส่วนผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้จัดการขึ้นไป ได้ปฏิบัติงานตลอดระยะเวลาตั้งแต่เลิกจ้างเพื่อให้การฟื้นฟูเป็นผลสำเร็จ และเพิ่งได้รับการจ้างงานเป็นทางการเมื่อเดือน มีนาคม และเมษายน การจ้างงานจะเป็นไปตามความจำเป็น และเหมาะสมเพื่อให้โครงสร้างองค์กรมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น และสอดคล้องกับแผนฟื้นฟูกิจการเป็นระยะๆ จนกระทั่งสามารถเข้าสู่การดำเนินการตามปกติภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 56

2. การฟื้นฟูกิจการเพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่การดำเนินงานตามปกติ หลังจากได้ทำการติดต่อลูกค้าของบริษัทฯ เพื่อประเมินสถานการณ์ทางด้านการตลาด ปรากฏว่า ลูกค้ายังมีความต้องการ และบางรายต้องการให้บริษัทฯ เริ่มเปิดดำเนินการโดยเร็ว บริษัทฯ จึงได้วางแผนการฟื้นฟูบริษัทฯ เป็น 2 ระยะดังนี้ โดยระยะที่ 1 เป็นการซ่อมแซมเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าให้แก่ลูกค้าที่ไม่มีแหล่งผลิตรายอื่น และมีความต้องการเร่งด่วน ปัจจุบัน การฟื้นฟูระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถผลิต และส่งออกให้ลูกค้าได้ และบางรายได้ส่งงานเข้ามาทดลองทำการผลิต และแจ้งความต้องการ (ประมาณการ) มาแล้ว คาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 10 ล้านบาท/เดือน ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 ขณะที่ ระยะที่ 2 เป็นการซ่อมแซมพื้นที่ที่เหลือทั้งหมด เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ และเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 56

3.การขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการจากเดิม บริษัทฯ จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในปี 62 แต่จากเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว บริษัทฯ จำเป็นต้องขอขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้บริษัทฯ ได้มีเวลาฟื้นฟูกิจการ และสามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ในระหว่างจัดเตรียมข้อมูลให้ที่ปรึกษาการเงินเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะสามารถสรุปผลและนัดประชุมเจ้าหนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น