“ถิรไทย” ประกาศแผนการลงทุน 600 ล้านบาท ขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และเพิ่มกำลังการผลิต วางเป้าอีก 5 ปีข้างหน้า คาดกวาดยอดขายทะลุ 5,000 ล้านบาท โดยการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ 600 ล้านบาท ด้าน “ทริสเรทติ้ง” จัดอันดับหุ้นกู้ ถิรไทย ที่ระดับ “BBB+” และอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “BBB+” เช่นเดียวกันด้วยแนวโน้ม “Stable”
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า ในปี 55 บริษัทฯ มีแผนลงทุนมูลค่า 600 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงทั้งหม้อแปลงระบบจำหน่าย และหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และเพิ่มธุรกิจใหม่รองรับแผนธุรกิจระยะยาว วางเป้ารายได้รวม 5 ปีข้างหน้าทะลุ 5,000 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นการลงทุน สร้างโรงงานหม้อแปลงระบบจำหน่าย และขยายกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง รวม 280 ล้านบาท และสร้างโรงงานผลิตตัวถังหม้อแปลงและงานเหล็กคุณภาพสูง มูลค่า 220 ล้านบาท และอีก 100 ล้านบาท จะเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ เพื่อเสริมธุรกิจใหม่ ได้แก่ การจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบจ่ายไฟฟ้า เช่น รถกระเช้า สวิตช์เกียร์แรงสูง เป็นต้น
นายสัมพันธ์กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้บริษัทจะจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นกู้วงเงิน 600 ล้านบาทซึ่ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้แบบไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาทของ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” และอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB+” เช่นเดียวกันด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนที่สนใจในหุ้นกู้
โดย “ทริสเรทติ้ง” รายงานว่า TRT มีอันดับเครดิตสะท้อนสถานะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายซึ่งมีกำลังไฟฟ้า และแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทได้รับแรงหนุนจากสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์ของ Siemens Transformers Austria
GmbH & Co KG (Siemens) จากประเทศออสเตรีย ซึ่งช่วยสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นหลัก ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกหลายแห่ง และอุปสรรคที่ค่อนข้างสูงในการเข้าสู่ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้มากกว่า 1 ใน 3 ของบริษัทต้องพึ่งพิงลูกค้าในภาครัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก ความต้องการแหล่งอ้างอิงในการเข้าตลาดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่”
นายสัมพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ปี 55 บริษัทฯ คาดว่าจะเป็นอีกปีที่จะมีผลประกอบการที่ดี และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการทั้งผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) มูลค่ากว่า 1,816 ล้านบาทแล้ว โดยแบ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของ 3 การไฟฟ้า 823 ล้านบาท ภาคเอกชนภายในประเทศอีก 555 ล้านบาท ส่งออกอีก 211 ล้านบาท การซ่อมแซม และจำหน่ายอุปกรณ์อีก 227 ล้านบาท โดยจะส่งมอบในปี 55 มูลค่า 1,483 ล้านบาท และส่งมอบปี 56 อีก 333 ล้านบาท
“บริษัทยังคงมีงานที่ติดตามเสนอราคา มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วงเงิน 200 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ 200 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง 2,000 ล้านบาท ในภาคเอกชนในประเทศ 800 ล้านบาท และในตลาดต่างประเทศอีก 800 ล้านบาท และบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถชนะการประมูลงานได้มากกว่า 20-25 %” นายสัมพันธ์กล่าว