xs
xsm
sm
md
lg

SIS-DRACO ไตรมาสแรกปีนี้ผลงานทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่นฯ ไตรมาสแรกปีนี้กำไรหด เหตุยอดขายตกการแข่งขันสูง อีกทั้งภาวะตลาดในประเทศชะลอตัว ด้าน “ดราโก้ พีซีบี” งวดนี้ขาดทุนเหตุภาวะน้ำท่วมกระทบยอดขาย และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูโรงงาน รวมทั้งซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อให้โรงงานกลับมาผลิตได้ตามปกติ

นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัท และบริษัทย่อย ไตรมาสแรกปีนี้ว่า มีกำไรสุทธิ 26.42 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ 92 ล้านบาท หรือลดลง 66 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 72% เนื่องมาจากการขายสินค้าที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ทำให้สินค้าคงคลังสูง การแข่งขันทั้งทางด้านสินค้าและราคาในตลาดสูงขึ้นมาก สภาวะตลาดในประเทศเริ่มชะลอตัวลง จึงส่งผลกระทบให้กำไรรวมลดลงอย่างมาก

โดยงวดนี้ บริษัท และบริษัทย่อย มีรายได้รวมประจำไตรมาส 1 ปี 55 เท่ากับ 5,562.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 524.2 ล้านบาท หรือ 10.4% ซึ่งการเติบโตของรายได้รวมเริ่มชะลอตัวลง ตามสภาวะตลาดโดยรวมในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายรวมประจำไตรมาส 1 ปี 55 เท่ากับ 5,501.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 610.4 ล้านบาท หรือ 12.5 % โดยแบ่งเป็นต้นทุนสินค้าประจำไตรมาส 1 ปี 2555 เท่ากับ 5,278.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 604.7 ล้านบาท หรือ 12.9% ส่วนค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารรวมทั้ง ต้นทุนทางการเงิน ประจำไตรมาส 1 ปี 55 เท่ากับ 223.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 5.7 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน

นายเฉิน จุง คุน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดราโก้ พีซีบี จำกัด (มหาชน) หรือ DRACO แจ้งผลงานไตรมาสแรกปีนี้ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 39.45 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายที่เกิดน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ทำให้โรงงานไม่สามารถผลิตสินค้าได้ ทำให้ยอดขายต่ำลง แม้บริษัทจะมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์พลอยได้ และรายได้อื่น แต่ก็ต่ำลงอันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการผลิตที่ไม่สามารถดำเนินการได้เหมือนเช่นในภาวะปกติ

ขณะที่กำไรจากค่าเงินนั้น เมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าอย่างมากในไตรมาสแรกปีนี้ และบริษัทมีการชำระค่าวัตถุดิบที่เป็นเงินเยน จึงทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 54 หรือเพิ่มขึ้น 128% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารจากการที่บริษัทไม่สามารถทำการผลิตแม่พิมพ์วงจรไฟฟ้าได้เนื่องจากน้ำท่วม ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตต่างๆ ทั้งค่าแรง ค่าจ้างพนักงาน ค่าเสื่อม และอื่นๆ ถูกบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร จึงทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูโรงงานเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการตามปกติได้ รวมทั้งต้องสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่มด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น