xs
xsm
sm
md
lg

คลังเล็งเชือดบิ๊กแบงก์ SME เล่นงานหนักแต่งบัญชีเท็จ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถึงคิวเอสเอ็มอีแบงก์! คลังเตรียมเชือด “โสฬส สาครวิศว” ตกแต่งบัญชีแจ้งผลกำไรเป็นเท็จ ทั้งที่ขาดทุนสูงกว่า 1.6 พันล้านบาท พร้อมเผยผลสอบ 5 ข้อกล่าวหา พบมีความผิดจริง คาดอาจกระเด็นตกเก้าอี้ปลายเดือน มิ.ย.นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานผลของผู้สอบบัญชีของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ในปี 54 เข้ามา ซึ่งพบว่า ธพว.ได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ของ ธปท. 1,741.04 ล้านบาท ทำให้รายการเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ในงบการเงินเมื่อ 31 ธ.ค.53 สูงไป 1,741.04 ล้านบาท และหาก ธพว.ตั้งสำรองครบถ้วน จะทำให้ผลการดำเนินงานสิ้นปี 53 ขาดทุนถึง 1,612.56 ล้านบาท ไม่ใช่มีกำไรสุทธิ 128.48 ล้านบาทตามที่ ธพว.แจ้งไว้

แม้ว่าสิ้นปี 54 ธพว.จะตั้งสำรองตามเกณฑ์ ธปท.แล้ว แต่กลับไม่ได้ปรับปรุงงบการเงินย้อนหลังไปเมื่อปี 53 ด้วย ทำให้ผลการดำเนินงานสิ้นปี 54 แสดงกำไรสุทธิต่ำไป 1,741.04 ล้านบาท จากที่ ธพว.แจ้งว่าสิ้นปี 54 มีกำไร 222.41 ล้านบาท และมีกำไรสะสม 535.31 ล้านบาท เพราะได้รับเงินจากตราสารอนุพันธ์ (FRCD) คืนมาบางส่วน ทั้งที่จริงๆ แล้วมีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันเกิน 3 ปี

นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่กระทรวงการคลังตั้งขึ้นมาเพื่อสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของ นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธพว. 5 กรณีหลัก เช่น การเปลี่ยนหลักประกัน การปรับโครงสร้างหนี้ การปล่อยสินเชื่อเลิกจ้าง ดำเนินการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์คอร์แบงกิ้ง ซึ่งทุกกรณีที่สอบข้อเท็จจริงนั้น ปรากฏว่า นายโสฬสผิดทุกข้อกล่าวหา และขณะนี้เตรียมที่จะรายงานผลสอบดังกล่าวให้ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง คาดว่าหากผลสอบแล้วเสร็จทั้งหมด อาจจะปลดนายโสฬสพ้นจากตำแหน่งปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค.นี้

“สิ้นปี 54 ที่ผ่านมา ธพว.ดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) 7.11% ไม่ถึง 8% ตามเกณฑ์ของ ธปท. และสิ้นปี 55 นี้อาจลดเหลือ 3.03% หากไม่เพิ่มทุน และหากต้องเพิ่มทุน ควรได้รับเงินไม่น้อยกว่า 5,400 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ได้รับเงินเพิ่มทุนมาเพียง 600 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 54 ที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนต่อเนื่องกันมาเกินกว่า 3 ปีนั้น เพราะต้องกันสำรองหนี้ด้อยคุณภาพ และเงินสำรองค่าปรับเอฟอาร์ซีดีจำนวนมาก ขณะที่มีหนี้เสียสูงถึง 53.73% อีกทั้งมีหนี้เสียที่จะกลับมาอีก ถึง 53.46% ของลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมด เพราะใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเอง ไม่มีเครื่องมือประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตที่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ได้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้กระทั่งระบบคอร์แบงกิ้ง ที่ว่าจ้างเอกชนให้เข้ามาติดตั้งระบบแล้ว แต่จนปัจจุบัน ก็ไม่สามารถที่จะใช้บริการรับฝากเงินจากประชาชนได้ แต่นายโสฬสกลับระบุว่า กรณีนี้ยังไม่เกิดความเสียหายขึ้น เพราะยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างงานแต่อย่างใด ขณะที่เอกชนกำลังเตรียมจะฟ้อง เพราะทำงานเสร็จแล้ว แต่ ธพว.ไม่ลงนามรับมอบงานเสียที

ส่วนสินเชื่อเลิกจ้างที่ ธพว.ร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นั้น ธพว.ได้ขยายวงเงินโครงการเพิ่มจากเดิม 10,000 ล้าบาทเป็น 30,000 ล้านบาท โดยไม่ได้แจ้งให้กระทรวงการคลังทราบ อีกทั้ง สปส.ฝากเงินกับ ธพว. 7,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อให้นำเงินส่วนนี้ไปดำเนินโครงการดังกล่าว แต่ ธพว.อนุมัติเกินไปกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ต้นทุนดอกเบี้ยของตนเอง และมีแนวโน้มที่จะขาดทุนด้วย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น