xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นผลสอบ ป.ป.ช.สัญญาทรู/กสท “เมธี” ยันต้องได้ข้อสรุป-เหตุผลสนับสนุนชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุ ป.ช.ช.ชี้ชะตาสัญญา 3G กลุ่มทรู/กสท ‘เมธี’ ยันต้องได้ข้อสรุป หรือไม่ก็ต้องพิจารณาตัวเอง ด้านพนักงาน กสท ตั้งความหวัง ป.ป.ช.ช่วยปกป้องสมบัติชาติ หลังนานวันยิ่งปรากฎชัดผู้บริหารปกปิดข้อมูล พ่วงผลสอบก่อนหน้าทั้งกรรมาธิการวุฒิสภาชี้ผิด 3 ประเด็น ไอซีทีพบพิรุธ 5 เรื่อง

นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนสัญญาการให้บริการโทรศัพท์มือถือรูปแบบใหม่ 3G HSPA ของบริษัท กสท โทรคมนาคม กับกลุ่มทรู กล่าวว่า ในการประชุมอนุกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ สมควรจะได้ผลสรุปออกมาเพราะยืดเยื้อมานานแล้ว ไม่เช่นนั้น อนุกรรมการคงต้องพิจารณาตัวเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ความเห็นกรรมการทั้ง 7 คนจะออกมาได้ 2 แนวทาง คือ กล่าวหาว่ามีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ในกระบวนการต่อไป กับแนวทางที่เห็นว่าทุกอย่างถูกต้อง โดยทั้งหมดต้องมีเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจน

แหล่งข่าวใน กสท กล่าวว่า ความเห็นพนักงานแตกออกเป็น 2 ฝ่าย เพราะมีพนักงานจำนวนมากที่รับรู้ข้อมูลที่ถูกปกปิดจากผู้บริหาร และสหภาพฯ จึงเกิดความไม่พอใจ อย่างเช่นที่ผู้บริหารเคยบอกว่า กสท จะมีรายได้นับแสนล้านบาท แต่ข้อเท็จจริง กสท จะขาดทุนกว่า 6 พันล้านบาท กล่าวคือ 1.สัญญา 14 ปี จำนวน 9,948 สถานีฐาน จำนวนลูกค้า 21.98 ล้านราย 2.รายรับที่ กสท จะได้จากการขายส่งบริการจากเรียลมูฟ 170,552 ล้านบาท 3.รายจ่ายที่ กสทจ่ายเป็นค่าเช่าโครงข่ายให้ BFKT จำนวน 139,847 ล้านบาท 4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมค่าธรรมเนียมคลื่น และค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ กสท ต้องจ่ายทั้งหมด 37,025 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักรายได้และรายจ่ายแล้ว กสท จะขาดทุนจากการเช่าโครงข่ายมาให้บริการขายส่งเป็นเงิน 6,320 ล้านบาท

นอกจากนี้ รายงานผลการตรวจสอบภายในของ กสท ยังพบความผิดปกติที่ทำให้เห็นว่า กสท ไม่มีอำนาจเข้ามาบริหารจัดการ หรือกำกับดูแลคลื่นความถี่ 850 MHz เพราะขัดกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่ห้ามโอนสิทธิ์ในการครอบครองคลื่นให้บุคคลอื่น ที่ชัดเจนมากที่สุดคือ สัญญาผิด 3 ประเด็น และผลสอบกระทรวงไอซีทีพบข้อพิรุธถึง 5 เรื่อง อย่างเช่น 1.กสท ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบผ่านระบบ NOC ของ กสท ทำให้ไม่มีข้อมูลชี้วัดคุณภาพเพื่อประเมินคุณภาพของการให้บริการ การคำนวณค่าเช่าและการบริหารจัดการคาปาซิตี้ของ BFKT ได้ 2.กสท ไม่สามารถตรวจสอบจำนวนเซลไซต์ที่เปิดให้บริการ จากระบบ NOC ของ กสท และไม่สามารถตรวจสอบและบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อรายงานคุณภาพได้ตามที่ กสทช.กำหนด ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของรายงานที่ BFKT ส่งมาได้ ส่งผลต่อรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามสัญญา

3.การที่ BFKT ระบุในสัญญาว่า ‘บริษัทต้องเชื่อมต่อระบบที่บริษัทบริหารจัดการกับระบบที่ กสท จัดหาเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันและให้บริการได้’ และ ‘บริษัทต้องดำเนินการให้โครงข่ายของ กสท ในส่วนของเครื่องและอุปกรณ์ที่ให้เช่ามีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดและมาตรฐานการทำงานของโครงข่ายตลอดเวลานับแต่เริ่มให้บริการ หมายความว่า ตลอดอายุสัญญานี้ กสท จะนำคลื่นความถี่มาใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของ BFKT เท่านั้น และ BFKT ก็ยังไม่ได้ใบอนุญาตประเภทที่ 3 จาก กสทช.ด้วย’
กำลังโหลดความคิดเห็น