xs
xsm
sm
md
lg

“ดีเอสไอ” เชือดผู้บริหาร “ทีทีเอ” ยื่นฟ้อง “จันทรจุฑา-ฐิติมา” สร้างความเสียหาย 1.4 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดีเอสไอ” เชือดผู้บริหาร “ทีทีเอ” ยื่นหนังสือถึงอัยการสั่งฟ้อง “จันทรจุฑา-ฐิติมา” ตั้งข้อหาปกปิดข้อมูลผู้ถือหุ้น นำเงินบริษัทไปลงทุนสร้างความหายกว่า 1.4 พันล้าน

มีรายงานข่าวจากคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือทีทีเอ ผู้ประกอบธุรกิจสายการเดินเรือรายใหญ่ เปิดเผยว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีความเห็นไปถึงอัยการสำนักคดีพิเศษ ให้ดำเนินการฟ้องร้องเอาผิด ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีทีเอ และนางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในข้อหาสร้างความเสียหายให้แก่ทีทีเอ เป็นมูลค่า 1,430.33 ล้านบาท กรณีทำข้อตกลงซื้อหุ้นและวอร์แรนต์ บริษัท ยูเอ็มเอส จำกัด (มหาชน) โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของทีทีเอ รวมถึงการบิดเบือนข้อมูล และผลประกอบการของยูเอ็มเอสที่นำเสนอต่อกรรมการและผู้ถือหุ้นให้สูงกว่าความเป็นจริงด้วย

จากการตรวจสอบของดีเอสไอตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่า มีความไม่โปร่งใสในกระบวนการซื้อหุ้นดังกล่าว โดยราคาของหุ้นยูเอ็มเอสได้ขึ้นจาก 13-14 บาท เป็น 23 บาท ในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนที่ทีทีเอจะประกาศเข้าซื้อกิจการ ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่งต่อมา ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินการกล่าวโทษ และปรับผู้บริหารยูเอ็มเอสในข้อหาปั่นหุ้น

นอกจากนั้น เมื่อทีทีเอเข้าซื้อกิจการของยูเอ็มเอสแล้ว ปรากฎว่า ราคาหุ้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนตุลาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ 23 บาทต่อหุ้น เหลือเพียง 14.10 บาทต่อหุ้นเมื่อเดือนมกราคม 2555 ขณะที่ผลประกอบการของยูเอ็มเอส ก็ย่ำแย่ลง จากที่เคยกำไรสุทธิถึง 403 ล้านบาท ในปี 2551 เหลือเพียง 88.3 ล้านบาท, 71.2 ล้านบาท และ 60.5 ล้านบาท ในปี 2552-2554 ขณะที่ ม.ล.จันทรจุฑา ได้ให้ผู้บริหารเดิมของยูเอ็มเอส บริหารธุรกิจต่อไปได้ทั้งที่ทีทีเอซื้อหุ้นมาแล้วทั้งหมด

ทั้งนี้ ดีเอสไอมีความเห็นให้้ฟ้องร้องเอาผิด ม.ล.จันทรจุฑา ตามพระราชบัญญัต (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ในมาตรา 307 309 311 และ 313 ในข้อหากระทำการทุจริตและแสวงหาประโยชน์ จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบริษัทและประชาชนผู้ถือหุ้น

อย่างไรก็ตาม ม.ล.จันทรจุฑา ระบุว่า การลงทุนของทีทีเอใน บมจ.ยูเอ็มเอส เกิดจากการนำเสนอข้อมูลโดยนายจอห์น เครน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจของทีทีเอ ที่ทำงานร่วมกับบล.ฟินันซ่า ซึ่งป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่ปรึกษากฎหมาย

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารทีทีเอยังถูกท้วงติงจากผู้ถือหุ้น กรณีนำเงินของทีทีเอจำนวน 4,400 ล้านบาท ไปลงทุนในบริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ อย่างไม่โปร่งใส และทำให้ผู้ถือหุ้นเสียหาย เนื่องจากมูลค่าหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 2,450 ล้านบาท หรือขาดทุน 1,950 ล้านบาท โดย ณ วันที่เมอร์เมด มาริไทม์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์เมื่อเดือนตุลาคม 2550 ราคาหุ้นอยู่ที่ 1.56 ดอลลาร์สิงคโปร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.265 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่านั้น

สำหรับผลประกอบการของทีทีเอ ซึ่งเป็นสายเดินเรือรายใหญ่ของประเทศไทย ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิในปี 2551 อยู่ที่ 8,776 ล้านบาท เหลือเพียง 1,814 ล้านบาท ในปี 2552, 796 ล้านบาท ในปี 2553 และ 139 ล้านบาท ในปี 2554 ขณะเดียวกัน การทุ่มเงินซื้อธุรกิจที่ไม่สร้างผลกำไรทำให้จำนวนเงินสดในบริษัทของทีทีเอลดลงจาก 11,500 ล้านบาท เหลือ 4,948 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น