xs
xsm
sm
md
lg

อัยการไม่ฎีกา “ประชัย” ปั่นหุ้นทีพีไอ!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์
อัยการคดีศาลสูงสั่งไม่ฎีกาคดี “ประชัย-เชียรช่วง” ปั่นหุ้นบริษัททีพีไอ ยันเห็นพ้องตามศาลอุทธรณ์โจทก์มีแค่พยานบอกเล่าไร้น้ำหนัก ที่ศาลชั้นต้นสั่งจำคุกแถมให้จ่าย 6.9 พันล้านเป็นการลงโทษเกินคำขอ ส่งความเห็นต่ออธิบดีดีเอสไอหากไม่แย้งคดีจบ

วันนี้ (21 พ.ย.) นายไพรัช กังวานสุระ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูง เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้มีความเห็นสั่งไม่ยื่นฎีกาในคดีที่บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.ทีพีไอ บริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กรรมการบริหาร บจก.สเติร์น ตกเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลักทรัพย์ เผยแพร่ข้อมูล และร่างหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่หนังสือชี้ชวนจะมีผล บังคับใช้ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง (ปั่นหุ้น) และร่วมกันกระทำการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 77 และ 239 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

นายไพรัชกล่าวว่า หลังจากพิจารณาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้วคณะทำงานอัยการฝ่ายคดีศาลสูงรวมถึงรองอธิบดีและอธิบดีอัยการคดีศาลสูงทุกคนเห็นฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในทุกประเด็น โดยเฉพาะในประเด็นที่โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าบริษัท ทีพีไอฯ จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในลักษณะแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ตามมาตรา 239 และไม่ได้บรรยายด้วยว่านายประชัย และนายเชียรช่วง จำเลยที่ 2-4 กระทำผิดหรือสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 77 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 239 , 296 และลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 6,900,300,000 ล้านบาท และพิพากษาว่าจำเลยที่ 2-4 ผิดมาตรา 77, 280 และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 3 จำนวน 300,000 บาท จึงเป็นคำพิพากษาเกินคำขอ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ห้ามไม่ให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอ ซึ่งเป็นการกำหนดกรอบอำนาจพิพากษาเอาไว้

“พยานหลักฐานในสำนวนไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าบริษัท ทีพีไอฯ จำเลยที่ 1 และนายประชัย จำเลยที่ 2 ร่วมกันเผยแพร่ หรือมอบหมายให้ผู้อื่นเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในลักษณะปั่นหุ้นตามฟ้อง โจทก์มีเพียงพยานบอกเล่าที่เป็นเจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.เพียงปากเดียว อีกทั้งหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ได้มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่ข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้เมื่อ ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วคณะทำงานอัยการจึงมีคำสั่งไม่ยื่นฎีกาต่อในคดีนี้” อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงกล่าว

นายไพรัชกล่าวต่อว่า ล่าสุดตนได้ส่งสำนวนและความเห็นไม่ฎีกาคดีกลับไปให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้เพื่อพิจารณาอีกครั้ง หากทางอธิบดีดีเอสไอเห็นพ้องด้วยคดีนี้ก็ถือว่าจบ แต่หากมีความเห็นแย้งต้องส่งเรื่องให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นผู้ชี้ขาดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.ทีพีไอฯ บริษัท สเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด และนายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กรรมการบริหาร บจก.สเติร์นฯ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นบริษัทเจ้าของหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลักทรัพย์ เผยแพร่ข้อมูล และร่างหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่หนังสือชี้ชวนจะมีผล บังคับใช้ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง (ปั่นหุ้น) และร่วมกันกระทำการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 77 และ 239 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 4 ร่วมกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 77, 239, 280, 296 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยกระทำความผิดเป็นความผิดหลายกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษเรียงกระทงตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 91 ในความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลและร่างหนังสือเสนอชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ ก่อนวันที่หนังสือชี้ชวนจะมีผลบังคับใช้ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง (ปั่นหุ้น) ให้ปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 300,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กับ 4 คนละ 1 ปี ส่วนในความผิดฐานร่วมกันกระทำการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือในการดำเนินกิจการ ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ พิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 และ 3 เป็นจำนวนเงินคนละ 6,900 ล้านบาท และจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 2 ปี รวมปรับจำเลยที่ 1 และ 3 คนละ 6,900,300,000 บาท และรวมจำคุกจำเลยที่ 2 และ 4 คนละ 3 ปี การกระทำความผิดของจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรง และทางอ้อม จึงไม่มีเหตุรอลงอาญา แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น