ธปท.แจงขณะนี้สภาพคล่องในระบบเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจไทย ระบุสภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ 2 ล้านล้านบาท หรือ 20% ของจีดีพี ช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เกิดการลงทุน และไม่เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อหรือฟองสบู่ตามมา พร้อมระบุขณะนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลทั้งเข้ามาลงทุนในหุ้น-พันธบัตร และคนไทยลงทุนนอกประเทศมากขึ้น
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า สภาพคล่องในระบบค่อนข้างสูงมากเกินไปจนอาจมีภาระการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. และเกิดการขาดทุนของ ธปท.ต่อไปเรื่อยๆ ว่า ขณะนี้ ธปท.พยายามดูแลสภาพคล่องไม่ให้เกิดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่ต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้น มองว่าขณะนี้ สภาพคล่องในระบบเหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์สภาพคล่องประมาณ 10 ล้านล้านบาท ถือว่าใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทย และมีสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของจีดีพี ถือว่าไม่มากนัก และยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายที่จะเกิดอัตราเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่ตามมา
“การดูดซับสภาพคล่องของ ธปท.ไม่ได้มากจนเกินไป เพราะหาก ธปท.ทำสิ่งนี้มากเกินไปจะฟ้องให้เห็นว่าผ่านอัตราดอกเบี้ยตลาดสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”
ในกรณีที่สภาพคล่องในระบบมีมากจนเกินไป นอกเหนือจากวิธีดูดซับสภาพคล่องของ ธปท.แล้ว ขณะนี้ ธปท.พยายามสนับสนุนให้ธุรกิจให้ไปลงทุนในต่างประเทศ หรือในแง่การลงทุนที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบจากต่างประเทศ ถือเป็นการใช้เงินตราต่างประเทศอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนั้น หากเงินในระบบขาดจะเป็นโจทย์ที่แก้ไขได้ยากกว่า แต่หากเงินในระบบมีเยอะการใช้ให้ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่ดี
ยันเงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุล
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลต่อเนื่อง แต่ในปี 55 ธปท.ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1% จีดีพี ถือว่าไม่มากนัก และไม่เป็นอันตราย เนื่องจากมองว่า อุตสาหกรรมบางประเภทอาจมีการสั่งซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบนำเข้ามาเพื่อซ่อมแซม หรือขยายกำลังการผลิต จึงเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย เพราะสะท้อนว่าผู้ส่งออกไทยค้าขายได้ดี
สำหรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนค่อนข้างสมดุลในขณะนี้ โดยช่วงไตรมาสแรกก็มีแนวโน้มค่อนข้างดี เนื่องจากมีนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนหุ้นและพันธบัตร ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจไทยก็มีการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับเมื่อปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้าออกค่อนข้างสมดุล โดยเฉพาะเงินทุนไหลออกตามนโยบายของ ธปท.ที่พยายามส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น