xs
xsm
sm
md
lg

จี้ รบ.เปิดข้อมูลลงทุน “เมกะโปรเจกต์” แก้น้ำท่วม 3.5 แสนล้าน แนะเลิกประมูลวิธีพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคีเครือข่ายต้านโกง เรียกร้อง รบ.เปิดเผยข้อมูล โครงการลงทุนแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน เพื่อความโปร่งใส ทั้งการก่อสร้างถนน การขุดลอกคลอง การสร้างเขื่อน และการทำแนวกั้นน้ำ หวั่นเกิดทุจริต แนะใช้วิธีการยื่นซองประมูล และเปิดเผยข้อมูลราคากลาง แทนการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษ เพราะเกิดการทุจริตได้ง่าย

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงการเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง “เฝ้าระวังโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม” เมื่อวานนี้ โดยยอมรับว่ากลุ่มสมาชิกมีความเป็นห่วงการใช้เงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล

ดังนั้น เพื่อให้การใช้งบประมาณดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงจะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความโปร่งใส โดยให้มีคนนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพเข้าร่วมกำหนดราคากลางเพื่อให้เป็นมาตรฐาน พร้อมกับมีการเสนอให้มีการตรวจสอบผู้รับเหมาว่ามีคุณสมบัติในการรับงานหรือไม่

นอกจากนี้ยังต้องการผลักดันให้มีการเปิดเผยราคากลางต่อสาธารณชน และในการตรวจรับงานเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้จะให้ความรู้แก่ภาคประชาชนและองค์กรวิชาชีพให้มีความรู้ในการตรวจสอบ

โดยในส่วนของภาคีเครือข่ายฯ จะดำเนินการตรวจสอบและติดตามการดำเนินการ มีอาสาสมัครจากโครงการหมาเฝ้าบ้าน และจัดตั้งหน่วยงานพิเศษร่วมในเรื่องการเฝ้าระวังน้ำท่วม ซึ่งจะร่วมกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขยายผลต่อ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะการก่อสร้างถนน การขุดลอกคลอง การสร้างเขื่อนและการทำแนวกั้นน้ำ

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายฯ จะเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูล ผ่านเว็บไซต์ของภาคีเครือข่ายและสมาชิก เพื่อให้ประชาชนทราบว่ามีโครงการอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม โครงการหมาเฝ้าบ้านก็จะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการป้องกันน้ำท่วมที่จะใช้งบกว่า 3.5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งการเปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว ควรจะใช้วิธีการยื่นซองประมูลและเปิดเผยข้อมูลราคากลางให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อร่วมกันตรวจสอบแทนการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษของภาครัฐ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ง่ายมากที่สุด

นายต่อตระกูลยังกล่าวถึงการวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ระบุว่า การประมูลผ่านระบบอีเล็กทรอนิกส์ (อี-อ็อกชัน) ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาของ 5 หน่วยงานหลักที่เสี่ยงต่อการทุจริต สามารถประหยัดงบประมาณได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น จากที่ควรประหยัดได้ถึงร้อยละ 7 หรือคิดเป็นมูลค่า 50,000-100,000 ล้านบาท

ดังนั้น ควรมีการตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งให้ประชาชนและนิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตต่างๆ ภายใต้โครงการสุนัขเฝ้าบ้าน และเปิดเผยข้อเท็จจริงแก่สังคมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น