xs
xsm
sm
md
lg

“โฆสิต” ชี้ 2 ปัจจัยเสี่ยง ศก.ปีหน้า เอกชนหมดแรงนำ-ลุ้นพิสูจน์ฝีมือ รบ.ปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
“โฆสิต” ชี้ แนวโน้ม ศก.ไทยเสี่ยงขึ้นจาก 2 ปัจจัย ระบุ ภาคเอกชนชะลอบทบาทหลัก ในการขับเคลื่อน ศก.เพราะต้องใช้เม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูเยียวยาตัวเอง แนะรัฐบาลต้องพิสูจน์ฝีมือนำ ศก.ขณะที่อัตรา ดบ.คาดการณ์ทิศทางยาก เพราะมีแรงกดดันจากเงินฝากแบงก์ เพื่อปล่อยกู้ภาครัฐ พร้อมคาดการณ์ “จีดีพี” โตได้ 4-5% “บัวหลวง” ปรับกลยุทธ์เน้นใกล้ชิดลูกค้า และหาความรู้เพิ่มเติม ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปีหน้า โตได้ 6-8% ใกล้เคียงปีนี้

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวในงานเสวนา “ทิศทางกับการฟื้นฟู...เศรษฐกิจไทยในปี 55” โดยระบุว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตอุทกภัยในปีหน้าจะมี 2 ปัจจัยหลักที่จะมีอิทธิพลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย คือ ผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและส่งผลต่อรายได้ของประชาชน ประกอบกับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

ดังนั้น มองว่าน่าจะกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2554 จะหายไปส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในไตรมาส 4/2554 และจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/2555 ซึ่งประเมินว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ในกรณีดีที่สุด คาดว่าการเติบโตเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2555 จะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2554

แต่ส่วนตัวประเมินว่าไตรมาสแรกของปี 2555 น่าจะติดลบต่อจากไตรมาส 4/2554 ส่วนในไตรมาส 2/2555 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ น่าจะเพิ่มขึ้น คงจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2554 หรือใกล้กับก่อนเหตุการณ์เกิดน้ำท่วม และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 3/2555 เป็นต้นไป

“ประเมินว่า ในปีหน้าภาคเอกชนจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นค่าใข้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งจะเห็นชัดในครึ่งปีแรก”

ดังนั้น การที่ภาคเอกชนจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้าก็ลดลง เหลือเพียงภาครัฐที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในปีหน้าคงต้องพึ่งพาภาครัฐมากขึ้น โดยหากกรอบการฟื้นฟูน้ำท่วมของรัฐบาลถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้จีดีพี ปี 2555 เติบโตได้ 4-5% แต่จะโตสูงกว่านี้ในช่วงครึ่งปีหลัง และต่ำกว่านี้ในครึ่งปีแรก

นอกจากนี้ การเติบโตจีดีพียังต้องขึ้นกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งยังคาดการณ์ยากว่าในปีหน้าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง เพราะจะมีแรงกดดันจากธนาคารที่มีความต้องการเงินฝากสูงขึ้น เนื่องจากไปปล่อยกู้ให้ภาครัฐ รวมทั้งเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้ยังสูงกว่า 4% อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของปัจจัยดังกล่าว อีกทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนมองว่าปีหน้าก็ยังมีความผันผวนต่อเนื่องจากขณะนี้

นายโฆสิต กล่าวว่า ปัจจัยที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้าอีกประการ คือ ปัจจัยเศรษฐกิจโลก ซึ่งมองว่าน่าจะชะลอตัว โดยเศรษฐกิจโลกอาจมีการปรับฐาน ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความไม่แน่นอนสูง และโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะกลับมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็เป็นไปได้สูง และคงทำให้การค้าในระดับโลกคงลดลงด้วย

“ตอนนี้เรากำลังฝ่าอากาศแปรปรวน ท่านทั้งหลายก็ต้องกรุณารัดเข็มขัด เพราะตอนนี้มีแรงต้านสูงจากหลายๆ เรื่อง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกว้างและลึกกว่าที่เราคิด ดังนั้น ถ้าจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงสองปัจจัย คือ ผลกระทบจากน้ำท่วม และภาวะเศรษฐกิจโลก”

ทั้งนี้ ยังมี 4 วาระที่จะยังต้องติดตามที่จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า ที่ต้องพึ่งพารัฐบาลเป็นผู้กระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาล ต้องสามารถบริหารจัดการภาพรวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ให้มีความสงบกลับสู่ภาวะปกติ ไม่เกิดปัญหาคอร์รัปชัน หากรัฐบาลทำได้ดีโอกาสจะฟื้นตัวได้เร็วก็มีมาก

นอกจากนี้ ยังรวมถึงปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน และต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจะถูกละเลยหลังเกิดภาวะน้ำท่วม และการขยายพื้นที่ของอุตสาหกรรม เพราะขณะนี้พื้นที่ในเขตล่มแม่น้ำเจ้าพระยาเต็มหมดแล้ว ดังนั้น ภาครัฐควรไปหาพื้นที่อื่น เช่น ภาคอีสาน ตามที่นักวิชาการได้เสนอไว้ เช่น พื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น

นอกจากนี้ ไทยต้องให้ความสำคัญกับอาเซียนเพิ่มขึ้น เช่นการเป็นซัพพลายเชนของอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าต้องให้ความสำคัญในด้านการลงทุนด้วยนอกเหนือจากการค้า

นายโฆสิต ยังกล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจของธนาคารในปีหน้า โดยระบุว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อปี 2555 เติบโต 6-8% ใกล้เคียงปีนี้ พร้อมประเมินว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2555 จะเติบโตได้ 4-5% ธนาคารจะเน้นใกล้ชิดลูกค้า และหาความรู้เพิ่มเติม ให้ธนาคารและลูกค้า

“แผนสินเชื่อปีหน้าที่จริงยังไม่จบ เพราะปีหน้าเป็นปีที่ยาก ยังไม่สามารถฟันธงเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ แต่ถ้าจีดีพีโตได้ 4-5% ตามที่นักวิชาการหลายท่านบอก เราก็น่าจะโตได้ 6-8%”
กำลังโหลดความคิดเห็น