ผู้บริหาร “อมตะ” คาดปี 55 ยอดขายที่ดิน 1.8 พันไร่ โต 20% หลังนักลงทุนเชื่อมั่นนิคมฯ ภาคตะวันออก ปลอดภัยน้ำท่วม ด้านนิคมฯ บางปะอิน มั่นใจ รง.ทั้งหมดเดือนเครื่องครบใน 2 เดือน ขณะที่ “ช.การช่าง” เตรียมรับ 700 ล้าน สร้างเขื่อนกั้นน้ำรอบนิคมฯ บางปะอิน พร้อมซ่อมแซมแนวกั้น
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า ยอดขายที่ดินปี 2555 จะอยู่ที่ 1,800 ไร่ หรือเติบโต 20% จากปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยบวกสนับสนุนทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มั่นใจนิคมอมตะ และนิคมฯ อื่นๆ ด้านภาคตะวันออก เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ได้รับอานิสงส์จากประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ธุรกิจยานยนต์เริ่มเดินเครื่องผลิตรถยนต์ หลังจากที่ชะลอไปเมื่อช่วงไตรมาส 3 หลังจากติดปัญหาขนส่งวัตถุดิบ
ขณะเดียวกัน แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป ไม่สดใส แต่ทางตะวันออกและออสเตรเลียถือว่าเป็นฐานส่งออกรถปิกอัพที่สำคัญ ซึ่งผู้ผลิตต่างชาติเลือกไทยเป็นฐานผู้ผลิตรถปิกอัพ
“นักลงทุนเริ่มมองเห็นประเด็นที่เขามอง คือ เหตุการณ์น้ำท่วมทำให้นิคมอมตะและนิคมภาคตะวันออกรับอานิสงส์ ดังนั้น จึงต้องมาแข่งกันที่การดูแลนักลงทุนว่าใครทำได้ดีกว่ากัน ซึ่งสิ่งที่อมตะทำไม่ได้ขายที่ดิน แต่วันนี้เราขายความเชื่อมั่น เมื่อคุณซื้อที่ดินจ่ายเงินแล้ว จากนั้นเราดูแลคุณตลอดชีวิต”
ล่าสุด บริษัทมีงานในมืออยู่ที่ 3,300 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ไตรมาส 4 ปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า นอกจากนี้บริษัทมีที่ดินเหลือ 13,000 ไร่ ซึ่งจะทยอยขายได้ 7 ปี ดังนั้น ในปีหน้าบริษัทอาจจะใช้เงินซื้อที่ดินไม่มากนัก แค่หลักพันล้านบาท
นายวิบูลย์ คาดการณ์ว่า ยอดรับรู้รายได้ในปีนี้จะต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่สามารถโอนที่ดินได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยอดขายที่ดินปีนี้ เชื่อว่า จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 1,500 ไร่ แม้ว่ายอดขายไตรมาส 3 อ่อนตัวลง เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่การเซ็นสัญญาของลูกค้าทั้งหมดจะเลื่อนมาอยู่ในไตรมาส 4 ประมาณ 200-300 ไร่
น.ส.ลักขณา เมี้ยนกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน กล่าถึงความคืบหน้าในการกู้นิคมฯ โดยระบุว่า ขณะนี้เริ่มจ่ายไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าระบบในพื้นที่นิคมฯ ไปแล้วกว่า 50% ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมา เพื่อฟื้นฟูโรงงาน โดยคาดว่าโรงงานต่างๆ จะสามารถกลับมาเดินเครื่องผลิตได้หมดภายใน 2 เดือน ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์น่าจะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดภายในเดือนธันวาคม 2554 นี้ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ซ้ำซ้อนมากนัก
“เราเริ่มเข้ามาทำความสะอาดพื้นที่ภายในนิคมฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 แล้ว โดยในส่วนของโรงงานที่มีเครื่องจักรกลเสียหายนั้นสามารถฟื้นฟูได้ง่ายกว่าเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า ภายใน 2 เดือนก็สามารถฟื้นฟูได้ตามความพร้อมทางการเงินของแต่ละโรงงาน”
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK กล่าวว่า บริษัทได้รับจ้างในการฟื้นฟูและสร้างเขื่อนกั้นน้ำใหม่รอบนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ซึ่งบริษัทมีจะเข้าไปฟื้นฟูและซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำเก่า รวมทั้งการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวรใหม่รอบนิคมระยะทาง 11 กิโลเมตร หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 45 ล้านบาท โดยใช้เทคโนโลยีแบบคอนกรีตผสมดินวงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับแนวคันกั้นน้ำเดิม
ส่วนแผนฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินในระยะสั้น คาดว่า จะใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ในการเข้าไปดำเนินการสูบน้ำออกจากนิคมฯ และซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำเดิมรอบนิคมฯ ชั่วคราว ก่อนที่ฝนปีนี้จะมาถึง ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2554 ถึงเดือนมกราคม 2555