xs
xsm
sm
md
lg

"มาม่า" กังขารัฐนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยันไม่ได้อิจฉาตาร้อน-เตือนไม่มี อย. รับรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ประกอบการ ชี้ รัฐนำเข้าบะหมี่สำเร็จรูป แก้ปัญหาผิดทาง "มาม่า" ยันมีสินค้าในสต็อกเพียบ ลั่นไม่ได้อิจฉาตาร้อน เพราะเชื่อหากเอามาขายแข่งก็สู้ไม่ได้ ทั้งยังไม่มี อย. รับรอง แนะรัฐแก้ปัญหาโลจิสติกส์ และค่าน้ำมัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ขณะที่ค่าย "ยำยำ" ลดกำลังการผลิต 20% หลังนิคมฯ บางชัน น้ำทะลัก

นายพิพัฒ พะเนียงเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา ”มาม่า” เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาสินค้าขาดแคลนของภาครัฐด้วยการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะในส่วนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น มองว่าไม่ใช่เป็นวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะการช่วยเหลือประชาชนที่แท้จริงต้องเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากการนำเข้าสินค้าจะมีการบวกค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของมาม่าเองก็ยังมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เฉลี่ยที่ประมาณ 1 แสนหีบต่อวัน และบางวันก็มีปริมาณสินค้ามากกว่า 1 แสนหีบ

ปัจจุบันบริษัทเดินเครื่องการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตลอด 24 ชั่วโมง แบ่งระยะเวลาการทำงานออกเป็น 3 กะ และบางวันแบ่งออกเป็น 2 กะ เพราะปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในสต็อกมากเกินไป จึงทำให้ต้องลดปริมาณการผลิต ซึ่งสิ่งที่บริษัทอยากจะให้ภาครัฐเข้ามาดูแลคือ เรื่องของการขนส่งสินค้า ไม่ใช่เรื่องของการนำเข้าสินค้า เพราะถ้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคจริง บริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ ก็ต้องไม่มีมาม่าจำหน่ายในท้องตลาด แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีปัญหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาดตลาด

“ผมไม่ได้อิจฉาตาร้อนที่ภาครัฐมีการนำเข้าสินค้า แต่ถ้านำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้ามาขายคู่กับมาม่า ผมว่าขายสู้มาม่าไม่ได้ ตอนนี้สินค้าในประเทศยังเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องนำเข้า การแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าจึงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังผิดกฎหมายอนุญาตการนำเข้าโดยไม่มี อย. ที่ผ่านมายอมรับว่ามาม่าอาจขาดไปบ้างในพื้นที่น้ำท่วม เพราะการขนส่งลำบาก”

นายธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในฐานะนักวิชาการ นักการตลาดและที่ปรึกษาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตราไวไว เปิดเผยว่า วันนี้กระบวนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ได้มีปัญหา และยังไม่ได้ส่งผลกระทบทำให้สินค้าขาดตลาด เพราะในส่วนของวัตถุดิบ แรงงาน และเครื่องจักรก็ยังไม่ได้มีปัญหาทำให้ผลิตสินค้าไม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือด้านการขนส่ง ดังนั้นการนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากกำลังการผลิตสินค้า หลังจากมีการนำเข้าสินค้าปัญหาก็จะกลับมาเหมือนเดิมคือ ไม่สามารถขนสิ่งสินค้าได้

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวไม่ได้เกิดแค่สินค้าในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น สินค้าอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม ก็ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เพราะปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการผลิตน้ำดื่มรายเล็กอีกประมาณ 7,000 ราย พร้อมที่จะผลิตและส่งสินค้าให้ ขณะที่บริษัทผลิตน้ำดื่มขนาดใหญ่เองก็ยังมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อผู้บริโภค แต่ติดปัญหาในเรื่องของการขนส่งสินค้า ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวของภาครัฐน่าจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี มากกว่าการส่งเสริมธุรกิจของประเทศไทย

ด้านรายงานข่าวจากบริษัท วันไทยอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "ยำยำ" กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังดำเนินการผลิตในโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นปกติ แต่ได้ลดกำลังการผลิตลงไป 20% จากเดิมผลิตได้ 3 ล้านซองต่อวัน ซึ่งบริษัทได้ป้องกันโรงงานไว้แล้ว แต่จะมีการหยุดการผลิตหรือไม่นั้นต้องพิจารณากันอีกครั้ง

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จัดรถโมบายยูนิต และเรือธงฟ้า ออกจำหน่ายสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ ให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในวันนี้จำนวน 15 แห่ง อาทิ ชุมชนสุเหร่าบ้านเกาะ ซอยสุวินทวงศ์ 7 ตลาดศรีสวัสดิ์ พุทธมณฑลสาย 4 ชุมชนหมู่บ้านศรีเพชร ถนนเพชรเกษม โรงเรียนวัดนาคกลาง ถนนอิสรภาพ ชุมชนบุญมาก ถนนสรงประภา หน้าสหกรณ์การเกษตร อ.ลำลูกกา คลอง 7 จ.ปทุมธานี และเรือธงฟ้า 2 ลำ ที่หมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ลานจอดรถประชาอุทิศ ชุมชนหลังสมาคมโรงเรียนไทย-ญี่ปุ่น เขตห้วยขวาง และตลาดปฐวิกรณ์ เขตบึงกุ่ม

โดยในวันนี้ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจำหน่ายเรือธงฟ้า ที่หมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ อ.บางบัวทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น