รมว.คลัง เผย นายกฯ สั่งเร่งผลักดันเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน 7 หมื่นแห่ง เพื่อฟื้นฟู ศก.หลังน้ำท่วม คาด ก้อนแรกหว่านได้แห่งละ 2-3 แสนบาท เล็งดึงหอการค้าฯ เป็นที่ปรึกษา พร้อมตำหนินโยบายการเงิน เหยียบเบรก ศก.เร็วเกินไป ทั้งที่ควรจะมองการคาดการณ์อนาคต ภาพรวมจากภายนอกประเทศ และควรเชื่อมโยงการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานแบบใช้เหตุและผล มีซิกเซนส์ในการทำงานมากกว่านี้ “วิรุฬ” สั่งตั้งวอร์รูมเกาะติดน้ำท่วม เพื่อให้เบิกจ่ายมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานวันสถาปนาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ครบรอบ 9 ปี โดยได้แสดงความยินดีและชื่นชมการทำงานของ สบน.ในเรื่องการบริหารเงินคงคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความสูญเสียพอสมควร ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมหลายมาตรการฟื้นฟู หลังน้ำท่วมคลี่คลาย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เร่งผลักดันการโอนเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านและหมู่บ้านเอสเอ็มแอล เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูหลังน้ำลดเบื้องต้นจะเร่งโอนเงินกองทุนหมู่บ้านก้อนแรกให้ 7 หมื่นหมู่บ้านๆ ละประมาณ 2-3 แสนบาท และจะประสานกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมาเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำการบริหารจัดการเงินในแต่ละหมู่บ้านการเพิ่มมูลค่าสินค้า และการหาตลาด เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
“คาดว่า จะมีการหารือกับสภาหอการค้าฯ ในวันจันทร์หน้า ขณะเดียวกัน ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเกิดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยได้สั่งให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมธนาคารไทย จัดเตรียมอุปกรณ์ เช่น เรือท้องแบนไว้ที่สำนักงาน เพื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน”
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้เตรียมรองรับกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจไว้พร้อมแล้ว ทั้งนโยบายการรับจำนำข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร การผลักดันค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท รวมถึงมาตรการรถคันแรก บ้านหลังแรก เพื่อทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีความแข็งแกร่ง
ส่วนงบประมาณปีหน้าอาจจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อลงทุนรองรับปัญหาน้ำท่วม เช่น ลงทุนสร้างแนวกั้นน้ำให้เป็นคอนกรีต แทนแนวคันดินกั้นน้ำ และกระสอบทราย รวมทั้งขยายถนน ขึ้นสันเขื่อนให้กว้างและยกระดับให้สูงขึ้น
ด้านนโยบายการเงิน เห็นว่า การทำงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถือว่าเป็นการเหยียบเบรกเศรษฐกิจเร็วไป ทั้งที่ควรจะมองการคาดการณ์อนาคต ภาพรวมจากภายนอกประเทศ และควรเชื่อมโยงการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานแบบใช้เหตุและผล มีซิกเซนส์ในการทำงานมากกว่านี้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายธีระชัย ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงการประชุม กนง.ในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 นี้ ควรจะหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่
ด้าน นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนเองได้สั่งให้เร่งกรมบัญชีกลางเร่งเบิกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยให้มีการจัดตั้งวอรูมของกรมบัญชีกลางขึ้น ซึ่งจะให้คลังจังหวัดทุกแห่งรายงานสถานการณ์ของแต่ละจังหวัดเข้ามาทุกวัน
นอกจากนี้ ยังมอบให้กรมบัญชีกลางประสานกับทางกระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2554 ที่ผ่านมา ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประสบภัย ส่วนใหญ่เป็นเหตุอุทกภัย ที่มียอดสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท หรือ 58.13% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่มีการเบิกจ่ายเพียง 4,239 ล้านบาท ถึง 144.63%
สำหรับปีงบประมาณ 2555 ได้มีการประมาณการตัวเลขการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือผลกระทบจากอุทกภัย ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.2554 ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนั้น น่าจะเป็นการช่วยเหลือในเรื่องภัยหนาวที่คาดว่าจะใช้เงิน 34 ล้านบาท