xs
xsm
sm
md
lg

ข้าวเปลือกวูบ 5 ล้านตัน ธ.ก.ส.ลดวงเงินจำนำเหลือแค่ 3.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธ.ก.ส.ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมกระทบผลผลิตข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำลดลงกว่า 5 ล้านตัน ส่งผลใช้เงินแทรกแซงเพียง 3.5 แสนล้านบาท ระบุ หากระบายสต๊อกข้าวได้ทันอาจใช้วงเงินต่ำกว่านี้ พร้อมเตรียมสินเชื่ออีก 1 หมื่นล้านฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังน้ำลด ขณะที่คลังเล็งผุดกองทุนประกันภัยพืชผลทางการเกษตรแทนเงินชดเชยเกษตรกร

นายบุญช่วย เจียดำรงชัย รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์น้ำท่วมของ ธ.ก.ส.ในเบื้องต้นมีการประเมินความเสียหายจากสาขาทั่วประเทศ คาดว่า จะมีผลผลิตข้าวนาปีได้ครับความเสียหายในครั้งนี้ และปริมาณข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการรับจำนำหายไปจากระบบประมาณ 5 ล้านตัน จากที่ประมาณการณ์ข้าวที่เข้าร่วมโครงการในฤดูกาลนี้ทั้งหมด 25 ล้านตัน

ซึ่งปริมาณข้าวที่หายไปดังกล่าวอาจส่งผลให้ ธ.ก.ส.ใช้เงินเพื่อแทรกแซงราคาข้าวในโครงการนี้ลดลงจาก 4.1 แสนล้านบาท เหลือประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยเงินจากสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.9 หมื่นล้านบาท จะสามารถใช้รองรับโครงการรับจำนำได้ถึงประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนจากนั้นจะใช้เงินกู้ร่วมจากธนาคารพาณิชย์ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดหาและค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังอีก 3.5 แสนล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณข้าวเปลือกที่จะออกมาในฤดูกาลนี้

“วงเงินที่ใช้สำหรับรับจำนำข้าวเปลือกในฤดูกาลนี้อาจใช้ไม่เต็มวงเงินที่ตั้งไว้ 4.1 แสนล้านบาท เพราะเท่าที่ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจทำให้ปริมาณข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการลดลง ขณะที่หากคณะอนุกรรมการระบายข้าวสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีกระแสเงินสดหมุนเวียนในโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้การใช้เงินในโครงการน้อยลงด้วย” นายบุญช่วย กล่าวและว่า นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมวงเงินอีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรและให้สินเชื่อช่วยเหลืออีกรายละไม่เกิน 1 แสนบาท หลังช่วงน้ำลดอีกด้วย

ด้าน นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง กล่าวว่า ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มอบหมายให้ คปภ.ไปศึกษาเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยร่วมมือกับโครงการที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันให้ขยายขอบเขตและความคุ้มครองให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ความเสียหายจากอุทกภัยและภัยธรรมชาติในแต่ละปีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และรัฐบาลต้องใช้เงินชดเชยให้กับเกษตรกรในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตอนนี้ได้มอบหมายให้ คปภ.ศึกษาแนวทางที่ ธ.ก.ส.ทำอยู่และเงินชดเชยที่กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้สำรวจและจ่ายไปทุกปีว่าแต่ละปีใช้วงเงินเท่าใด เพื่อนำเงินก้อนนั้นมาตั้งเป็นกองทุนให้มีความคุ้มครองในอัตราที่เหมาะสมกับเกษตรกรต่อไป” นายวิรุฬ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น