วุฒิฯ รุมยำรัฐแก้น้ำท่วมอืด ส.ว.ตากหนุนสานต่อประกันรายได้พืชผลไปก่อน “พล.ร.อ.สุรศักดิ์” หวั่นชาวบ้านกระทบกระทั่ง จี้นายกฯ สั่ง ปภ.หามาตรการป้องกัน เบรกตั้งกองทุนมั่งคั่ง นำงบฯ มาตั้งกองทุนป้องกันสาธารณภัยแห่งชาติดีกว่า ขณะที่ “ส.ว.พิเชต” ระบุแจกถุงยังชีพบางพื้นที่ 5-6 รอบ แต่ไม่ทั่วทุกหมู่บ้าน แนะทำฐานข้อมูลใหม่
วันนี้ (26 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภาที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายชรินทร์ หาญสืบสาย ส.ว.ตาก ได้หารือถึงสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ทั่วประเทศว่า ความทุกข์ยากของประชาชนจากภัยน้ำท่วมในขณะนี้มีกว่า 30 จังหวัดแล้ว ไร่นาเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งปัญหาว่าชาวนาที่ทำประกันรายได้ก็จะได้อานิสงส์ ไม่จำเป็นต้องมีข้าวก็ได้ชดเชยต่อรัฐบาล แต่ระบบการจำนำราคาข้าว ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 13 ต.ค.จะต้องมีข้าวไปจำนำ นอกจากนี้จะได้รับค่าชดเชย ซึ่งก็น้อยมาก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาระให้กับรัฐบาลเพราะเราไม่มีระบบการการประกันภัยพืชผลช่วยเหลือชาวนาอย่างเป็นระบบ และเพื่อแบ่งเบาภาระงบประมาณ จึงขอเสนอไปยังรัฐบาลว่าจัดการประกันภัยพืชผลอย่างเป็นระบบ โดยเร่งด่วนอย่างนานาประเทศทำกัน โดยรัฐบาลจะต้องออกค่าใช้จ่ายให้เพื่อเป็นการนำร่อง โดยชาวนาจะต้องเสียค่าประกันเล็กๆ น้อยๆ
ด้าน พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า กรณีที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในจังหวัดชัยนาทได้เข้าไปทุบทำลายทำนบกั้นน้ำเสียหายซึ่งก็เข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ไม่อยากเห็นการใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย จะเกิดลัทธิตัวอย่าง ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอื่นเอาเยี่ยงอย่าง จะทำให้เกิดความเสียหายกระจายทั่วประเทศ จึงฝากเรียนไปยังนายกฯ ในเรื่องดังกล่าว คือขอให้สั่งการไปยังผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติให้ไปสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้และหามาตรการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านที่อยู่กันคนละทำนบกั้นน้ำปะทะกัน และขอให้นายกฯ ได้สั่งหน่วยงานที่ปรึกษานำบทเรียนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในรอบปีที่ผ่านมาให้ส่งไปเป็นข้อมูลให้กระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ แทนที่จะจัดตั้งกองทันมั่งคั่งแห่งชาติขอให้จัดตั้งกองทุนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพราะขณะนี้การเกิดสาธารณภัยบ่อยครั้งมากขึ้น
ขณะที่ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี กล่าวว่า วิถีชีวิตของคนอำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี นอกจาการทำเกษตร ประมง แล้วขณะนี้มีวิถีชิวิตเพิ่มขึ้นคือรอรับของแจก เมื่อมีเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อไรจะต้องมีการหารือซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตนขอเสนอวิธีการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ส่วนใดที่มีความหนาแน่นก็ให้ป้องกัน ส่วนที่ไม่หนาแน่นทำอย่างไรให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ ตนคิดว่าจังหวัดอุทัยธานีน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือ กทม.ได้ อยากให้ฝ่ายบริหารนำไปแก้ไข
ด้าน นายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จากที่ตนได้ติดลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วมใน จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย ซึ่งพบว่ามีหลายหน่วยงานได้รับแจกถุงยังชีพหรือสิ่งของเป็นรอบที่ 5 หรือรอบที่ 6 ในขณะที่บางหมู่บ้านยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย เหตุการณ์เช่นนี้ในระยะแรกอาจจะยอมรับได้ แต่ขณะนี้น้ำท่วมมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เจ้าหน้าที่ในพื้นที่น่าจะมีข้อมูลครบถ้วน ในการปรับปรุงระบบ และกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงได้ ทั้งนี้ตนได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าในการขอรับค่าชดเชย ค่าเสียหาย เจ้าหน้าที่ได้ตั้งเงื่อนไขให้ชาวบ้านถ่ายรูปสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย ประกอบกับคำร้องด้วย ทำให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากชาวบ้านบางส่วนไม่มีกล้องถ่ายรูป หรือถ้ามีก็ต้องไปลงน้ำถ่ายรูป ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ถือเป็นการเพิ่มทุกข์ให้แก่ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ตนคิดว่าเจ้าหน้าที่มีทั้งเรือและกล้องถ่ายรูปก็น่าจะเข้าไปดำเนินการให้กับชาวบ้านได้ ซึ่งตนมองว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายจังหวัดด้วยกัน
ส่วน นายประดิษฐ์ ตันวัฒนพงศ์ ส.ว.สกลนคร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อโบราณสถานของบางจังหวัดที่ขึ้นเป็นมรดกโลก ซึ่งสมควรที่จะดูแลรักษาไว้ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ประสบปัญหาเหล่านี้ประสบปัญหาอย่างรุนแรง โดยไม่ทราบว่าโครงสร้างของโบราณสถานจะทนรับกับสภาพน้ำท่วมได้หรือไม่ จึงอยากฝากไปถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดูแลรักษาโบราณสถานอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น