xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ซีดประชานิยมล้วงเงินทำสภาพคล่องตึง เล็งชงคลังค้ำเงินกู้-ชดเชย ดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นโยบายประชานิยมทำสภาพคล่อง ธ.ก.ส.ตึง จำนำข้าว-กองทุนหมู่บ้าน ถลุงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท เหลือสภาพคล่องในมือรองรับผู้ฝากเงินเพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เล็งให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้และชดเชยดอกเบี้ยอุดหนุนรับจำนำข้างเพิ่มอีกกว่า 4 แสนล้านบาท รองรับผลผลิตที่จะออกมาทั้งหมดกว่า 23 ล้านตัน

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารมีสภาพคล่องประมาณ 2 แสนล้านบาท หากหักภาระที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 6% ของยอดเงินฝากตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลผู้ฝากเงินหรือคิดเป็นเงิน 5-6 หมื่นล้านบาท จะทำให้เหลือสภาพคล่องประมาณ 1.5-1.6 แสนล้านบาท ที่จะดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี คาดว่า จะใช้สภาพคล่องจาก ธ.ก.ส.ประมาณ 9 หมื่น-1 แสนล้านบาท และที่เหลืออีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จะเป็นการปล่อยกู้เพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ธ.ก.ส.ประมาณ 38,000 กองทุน

นายลักษณ์ กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวนาปีที่จะเริ่มโครงการวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กันยายน จะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์การรับจำนำเข้าที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) มาแล้ว ซึ่งกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ประมาณการว่าจะมีผลผลิตข้านาปีทั้งสิ้น 23 ล้านตัน และจะต้องใช้เงินถึง 4 แสนล้านบาท แต่ธนาคารมีสภาพคล่องที่จะดูแลได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่จะรับจำนำได้ถึงกลางเดือนธันวาคม เพราะช่วงต้นๆ ผลผลิตข้าวยังออกมาไม่มาก ส่วนที่เหลือจะให้กระทรวงการคลังประสานงานในการจัดหาเงินกู้ผ่านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยรัฐบาลจะรับภาระเงินต้นและดอกเบี้ยให้เพื่อมารับจำนำข้าวให้เพียงพอตามปริมาณผลผลิตที่ออกมา

สำหรับหนี้คงค้าง 1.04 แสนล้านบาท จากโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรเดิมจะนำเสนอในที่ประชุมครม.ด้วย เพื่อจัดสรรงบประมาณมาตั้งชดเชยหนี้ให้กับ ธ.ก.ส.ไม่เกิน 5 ปี รวมโครงการใหม่ที่จะเริ่มและจะใช้เงิน 9 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาทนั้น ก็จะเสนอให้มีการปิดชำระบัญชีเมื่อปิดโครงการ ปีต่อปี เพื่อให้มีการจัดสรรเงินคืน ธ.ก.ส.ใน 1 ปีด้วย

ส่วนการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้จ่ายเงินสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหาย เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย เพื่อประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยที่ต้องได้รับเงินชดเชยจากทางการจึงยังไม่ชัดเจนว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ซื้อประกันด้วยหรือไม่ จากจำนวนที่มีเกษตรกรซื้อประกันภัยไป 7 หมื่น รายคิดเป็น 1 ล้านไร่ ซึ่งหากอยู่ในพื้นที่ประสบภัยและซื้อประกันภัยด้วย จะได้รับเงินชดเชย 2,222 บาทต่อไร่ และ 606 บาทกรณีที่ไม่เกิน 60 วัน แต่หากเกิน 60 วันจะได้รับเงินชดเชย 2,222 บาทต่อไร่ และอีก 1,400 บาทต่อไร่จากบริษัทประกันภัยด้วย ซึ่งในที่ประชุม ครม.จะหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลผลิตเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากที่ ธ.ก.ส.ดูแลอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 13 กันยายน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลังได้นัดหารือ ธ.ก.ส.ร่วมกับธนาคารออมสิน และสำนักพัฒนาการแก้ไขปัญหาการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อหารือในรายละเอียดแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงแนวทางการปล่อยกู้ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หลังจากที่เสนอในที่ประชุม ครม.วันที่ 13 กันยายน เพื่ออนุมัติให้กองทุนหมู่บ้านสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ด้วย เพื่อจะได้มีสภาพคล่องเพื่อนำเงินไปปล่อยกู้ในชุมชนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น