ผู้ว่าฯ ธปท. แจงประชุม กนง.นัดพิเศษไม่ใช่เรื่องผิด "ฝ่ายตลาดเงิน" ส่งสัญญาณตั้งแต่ไตรมาส 4 เงินบาทผันผวนหนัก คาดเดาทิศทางได้ยาก ด้าน กนง.ตั้งธงเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้อปี 2555 อย่างมีนัยสำคัญ ก่อนชง รมว.คลัง-ครม. พิจารณา
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษ เมื่อเย็นวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ หรือเป็นเพราะต้องการที่จะประเมินสถานการณ์ตลาดโลกที่มีความผันผวนในขณะนี้ แต่เป็นการประชุม กนง.วาระพิเศษปกติ เพื่อพิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อประจำปี 2555 ที่ตามปกติ ธปท.จะต้องพิจารณาให้เสร็จในเดือนกันยายน 2554 นี้ เพื่อเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาในเดือนตุลาคม 2554 เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติกรอบในเดือนธันวาคม 2554 นี้
“เนื่องจากในปีนี้ นอกเหนือจากการเสนอกรอบเงินเฟ้อตามปกติ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้แล้ว เป็นช่วงเดียวกับที่ต้องตอบโจทย์ของ รัฐมนตรีคลังอีก 3 ข้อที่เหลือด้วย ทั้งเรื่องการออกตั๋วแลกเงิน ซึ่งในส่วนของ ธปท.นั้น ได้ข้อสรุปในเรื่องเพิ่มตั๋วแลกเงินเข้ามาคิดเป็นฐานเงินฝากในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง 6% ขณะที่ เรื่องหนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และเรื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินั้น เป็นการสรุปความคิดที่ได้จากเจ้าหน้าที่ ธปท. และคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท.”
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าไม่ได้ประชุม กนง.นัดพิเศษ กนง.ก็ได้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยเรื่องนี้จะนำมาหารือกันในการประชุม กนง.ในวันที่ 19 ตุลาคม 2554 ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งยอมรับว่าความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ซึ่งการประชุม กนง.ของไทยยังดูทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
“เรื่องนี้ คงต้องเรียนตามตรงว่า ปัจจุบัน ธปท. จะให้ความสำคัญกับภาวะความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น แต่ทาง ธปท. เองก็ยังคงให้ความสำคัญในส่วนของการดูแลภาวะเงินเฟ้อควบคู่กันไปทั้ง 2 ด้าน เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ”
นายสิงห์ชัย บุณยโยธิน ผู้อำนวยการตลาดการเงิน และฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ตลาดเงินโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น เนื่องจากยังมีความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปและการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น จะทำให้นักลงทุนถ่ายโอนการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดความผันผวนสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาส 4 ทำให้เกิดการคาดเดาทิศทางได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ควรมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในที่ประชุม กนง.ได้ข้อสรุปกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่จะเสนอต่อกระทรวงการคลัง โดยกรอบดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย จากกรอบเดิมที่ใช้อยู่ปัจจุบันที่ 0.5-3.0% แต่ไม่ได้บอกว่ากรอบเงินเฟ้อที่เสนอแคบขึ้น หรือเป็นอย่างไร
นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการ กนง. กล่าวยอมรับว่า การตัดสินใจนโยบายการเงินในการประชุม กนง.นัดวันที่ 19 ตุลาคม 2554 นี้ เป็นครั้งที่ยากมากครั้งหนึ่ง เพราะทุกคนรู้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมากขึ้น และวิกฤติหนี้ยุโรปจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนในขณะนี้
“การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความรุนแรงของปัญหายังไม่ชัดเจน ทำให้ในขณะนี้ กนง.ได้ให้ ธปท.ติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างเข้มข้น โดยมองว่าโอกาสที่ กนง. ตัดสินให้คงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าน่าจะมีมากขึ้น” นายพรายพล กล่าวสรุป