xs
xsm
sm
md
lg

"บุญทรง" ทุบโต๊ะ "รถคันแรก" ใช้เกณฑ์เดิม "บ้านหลังแรก" ไม่ฟรีโอน-ลุ้น ดบ. 0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บุญทรง เตริยาภิรมย์ (ซ้าย)
รมช.คลัง ยันไม่ปรับเงื่อนไข "รถคันแรก" เพื่อเอื้อให้รุ่น 1,600 ซีซี และรถประกอบนอก ได้สิทธิประโยชน์ เตรียมชง "บ้านหลังแรก" สัปดาห์หน้า ยันช่วยคนทุกกลุ่มไม่ได้เอื้อเฉพาะคนรวย ลั่นไม่ลดภาษีการโอน และภาษีธุรกิจเฉพาะ เล็งมาตรการเสริมแทน โดยมอบให้ ธอส.คิดดอกเบี้ย 0% ในช่วง 2-3 ปี หากซื้อบ้านในราคา 1-2 ล้านบาท

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการนโยบายรถคันแรก โดยยืนยันว่า กระทรวงจะไม่เสนอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องมาตรการคืนเงินรถยนต์คันแรก เนื่องจากต้องการช่วยประชาชนให้มีรถยนต์คันแรกเป็นของตัวเอง และต้องการสนับสนุนตลาดรถยนต์ในประเทศเท่านั้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เลื่อนวันเปิดตัวโครงการเป็นวันที่ 11 ตุลาคม 2554 นี้ ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติไบเทค บางนา พร้อมเชื่อว่าการดำเนินมาตรการนี้ไม่ขัดกฎกติกาการค้าโลก และรัฐบาลสามารถชี้แจงให้ผู้ประกอบการรถยนต์ประกอบต่างประเทศเข้าใจได้

สำหรับความคืบหน้ามาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการให้สิทธิ ประโยชน์สำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทสามารถนำมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ไม่เกินร้อยละ 10ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นเวลา 5 ปี ต่อเนื่องกันและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

ทั้งนี้ ครม. ให้ปรับวิธีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมให้นำมาหักลดหย่อนภาษี เช่น หากซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ 1 แสนบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2 หมื่นบาท หากในปีงบประมาณ 2555 มีภาระต้องเสียภาษี 2 หมื่นบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านมายกเว้นภาษีได้ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี แต่หากมีภาระภาษีเกินก็ต้องชำระเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้ขยายเวลาการใช้สิทธิประโยชน์เป็นในปีที่โอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์หรือในอีก 4 ปีถัดไป จากเดิมในปีที่โอนกรรมสิทธิ์ หรือใน 1 ปีถัดไป เบื้องต้นประเมินว่ามาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 12,000 ล้านบาท ใน 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 2,400 ล้านบาท จากเดิมหากใช้วิธีการลดหย่อนจะเสียรายได้ 1,700 ล้านบาท ใน 5 ปี ซึ่งที่ประชุม ครม. ยังได้ให้กระทรวงการคลังหามาตรการเสริมให้แก่ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งต้องเสียภาษีโดยจะให้

ขณะเดียวกัน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็จะปล่อยสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ส่วนจะกำหนดราคาบ้าน 1 หรือ 2 ล้านบาท หรือให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เป็นเวลา 2 หรือ 3 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับ ธอส.และจะนำรายละเอียดเสนอที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า แต่ยืนยันว่าจะไม่ลดภาษีค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง

"ผมยืนยันว่า มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองไม่ได้เอื้อประโยชน์กับคนรวย แต่เปิดโอกาสให้บุคคลทุกกลุ่มสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ โดยเชื่อว่าผู้มีรายได้น้อย ถึงปานกลางจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่า คนรวยที่ส่วนใหญ่มีบ้านหลังแรกแล้ว"

สำหรับรายละเอียดในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 (วานนี้) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พร้อมแนวทางปฏิบัติ

ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการภาษีที่ได้นำเสนอเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และครอบคลุมถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกินจำนวนภาษีที่พึงชำระในแต่ละปีภาษี ให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่เกินจำนวนภาษีที่พึงชำระในแต่ละปีภาษี เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

(2) ให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้ภายใน 5 ปีภาษีนับแต่วันที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ โดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่าๆ กัน เป็นเวลา 5 ปี ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท โดยเมื่อคำนวณภาษีตามปกติแล้วมีภาษีเงินได้ต้องชำระจำนวนเท่าใด ให้นำสิทธิยกเว้นภาษีไปหักออกจากภาษีเงินได้ที่ต้องชำระในแต่ละปีได้ทันที

(3) ผู้มีเงินได้ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555

(4) ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน

(5) ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะได้มีประกาศอธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น