xs
xsm
sm
md
lg

"พงษ์ภาณุ" เชื่อถูกเด้งไม่เกี่ยวยึดทรัพย์แม้ว "โกร่ง" อัด ธปท. หนุนตั้งกองทุนมั่งคั่งฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์
"พงษ์ภาณุ" ไม่ติดใจ ครม.ปู เตะโด่งไปแขวนตำแหน่งตบยุง เชื่อไม่ได้มาจากยึดทรัพย์ "ทักษิณ" ช่วงที่นั่งกรมบัญชีกลาง "นริศ" ยันไม่รู้มาก่อนว่าจะถูกดันไปคุมธนารักษ์ ขณะที่ "โกร่ง" โผล่หนุนตั้งกองทุนมั่งคั่ง เพื่อบริหารทุนสำรองฯ อัดแบงก์ชาติทำประเทศฉิบหาย แนะปรับโครงสร้าง ปัดการเมืองแทรกแซง ธปท. ถามกลับนายธีระชัย เป็นนักการเมืองที่ไหน

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตนเอง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา (วานนี้) จากอธิบดีกรมสรรพสามิตไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง โดยยืนยันว่า ส่วนตัวแล้วไม่ติดใจอะไร และยอมรับในการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดกับสถานการณ์

"ผมคิดว่า คำสั่งโยกย้ายดังกล่าว ไม่ได้เป็นผลมาจากการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง เนื่องจากเป็นการกระทำตามหน้าที่และเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา"

ด้านนายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยอมรับว่า ตนเองไม่รู้มาก่อนว่าจะถูกย้ายไปเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์

นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวแสดงความเห็นสนับสนุนนโยบายตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริหารงานล้มเหลว ส่งผลให้ขาดทุนมหาศาล โดยแนะให้ปรับโครงสร้างใหม่ทั้งหมด และให้รายงานตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ นายวีรพงษ์ ยังเห็นด้วยกับการบ้าน 4 ข้อที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมอบหมายให้ผู้ว่าการ ธปท. ไปศึกษาและหาแนวทางแก้ไข เพราะต้องยอมรับว่า ที่ผานมา ธปท.โยนภาระให้กับประชาชน ผู้เสียภาษีเป็นอย่างมาก จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของ ธปท.การเข้าไปโอบอุ้มสถาบันการเงินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ซึ่งสร้างภาระหนี้มากมายให้กับประเทศ

นายวีรพงษ์ ยังมองว่าที่ผ่านมาแบงก์ชาติสร้างวิกฤตมาเป็นระยะๆ ซึ่งที่จริงแล้ว เราไว้ใจแบงก์ชาติไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างแนวทางการจัดตังกองทุนมั่งคั่งว่า รัฐบาลอาจจัดตั้งกองทุนมั่งคั่งขึ้นมา โดยขายพันธบัตร (บอนด์) ให้กับ ธปท. แทนที่ ธปท.จะเอาเงินที่มีอยู่ไปซือพันธบัตรของสหรัฐฯ ยุโรป หรือเยอรมันนี ที่ขณะนี้ก็มีปัญหาเศรษฐกิจและมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

"เรื่องนี้ อาจต้องไปแก้กฎหมาย เพื่อให้สามารถทำได้ ธปท.ก็จะกลายเป็นเจ้าของพันธบัตร รูปแบบการบริหารก็อาจขายต่อให้กับธนาคารพาณิชย์ ธปท.ก็จะทำหน้าที่คล้ายกับโบรกเกอร์"

ส่วนความเสี่ยงของกองทุนมั่งคั่ง นายวีระพงษ์ กล่าวว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจดีกองทุนมั่งคั่งในหลายประเทศก็มีกำไร แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวก็พบว่าหลายกองทุนก็ขาดทุนเช่นกัน แต่เขาก็เชื่อว่าน่าจะขาดทุนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับปล่อยให้ธปท.เป็นผู้บริหาร และที่ผ่านมาผู้ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ล้วนมาจาก ธปท. ไม่ได้เกิดจากกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ธปท. ควรแยกหน่วยงานกำกับดูแล ฝ่ายตรวจสอบ และบริหารเงินทุนสำรองออกจากกัน เพราะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ชอบว่าคนอื่น แต่ธปท.กลับมีโครงสร้างการทำงานที่ Conflict of interest เสียเอง ซึ่งตนเองขอเสนอแนะว่า ธปท.ควรรายงานตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรก็สามารถชี้แจงต่อสภาได้

สำหรับมุมมองเกี่ยวกับนโยบายการเงินของ ธปท. นายวีระพงษ์ ยืนยันว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation targeting) และมองว่า ธปท.ผิดมาตั้งแต่ต้นที่ใช้เป็นตัวกำหนดนโยบายดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น มาจากราคาสินค้า นำเข้า-ส่งออก และราคาน้ำมัน ไม่เกี่ยวกับดอกเบี้ย เพราะการขึ้นดอกเบี้ยทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว

ส่วนการที่หลายฝ่ายมองว่านายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แทรกแซงการทำงานของ ธปท. อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่า ไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท. พร้อมกลับถามย้อนกลับว่า นายธีระชัยเป็นนักการเมืองที่ไหน
กำลังโหลดความคิดเห็น