xs
xsm
sm
md
lg

คาดที่ประชุม กนง.ขึ้น ดบ.อีก 0.25% เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ได้เริ่มต้นวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนถึงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้ปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.25% เปฌ็น 3.25% และการประชุมครั้งที่ในวันที่ 24 สิงหาคม ซึ่งเป็นการประชุมรอบที่ 6 ของปีนี้ คาดว่า กนง.คงจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย อีก 0.25% จาก 3.25% มาที่ 3.50%

โดยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เป็นการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชน อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ (Demand-Pull Inflation) ในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และปัญหาหนี้ในยูโรโซนที่อาจจะลุกลามไปยังประเทศขนาดใหญ่อย่างอิตาลีและสเปน จะเป็นปัจจัยที่อาจมีน้ำหนักต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในภายภาคหน้า และยังต้องติดตามผลกระทบจากสภาวะการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่เมื่อประเมินภาพเศรษฐกิจในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ต่อเนื่องถึงปี 2555 ในเบื้องต้น ซึ่งแรงส่งของการขยายตัวยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากแรงหนุนของการส่งออกที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายในด้านตลาดคู่ค้าและสินค้าส่งออกหลัก การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมหลังผลกระทบจากเหตุการณ์ในญี่ปุ่นทยอยคลี่คลาย

ขณะที่การใช้จ่ายภายในประเทศที่น่าจะได้รับผลบวกจากความชัดเจนทางการเมืองและการดำเนินนโยบายเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์ อุปทาน และการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต

ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปรับตัวรับการคาดการณ์มติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วในระดับหนึ่ง แต่จุดสนใจคงจะอยู่ที่การส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของ กนง.ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการเครื่องชี้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯและยูโรโซน ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า หากยังคงให้ภาพในเชิงลบอย่างต่อเนื่องก็คงจะเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย ตลอดจนมีผลต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินในรอบถัดๆไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น