xs
xsm
sm
md
lg

"ซีพีเอฟ" เปิดแผนสร้างโรงไฟฟ้าโคเจนฯ มีนบุรี 1 ป้อนโรงงานแปรรูปไก่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร "ซีพีเอฟ" ยันเดินหน้าทำแผนลดต้นทุนพลังงานต่อเนื่อง ประเดิมทดลองโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ มีนบุรี 1 สร้างโรงไฟฟ้าระบบโคเจเนอเรชั่น และศึกษาผลิตไฟฟ้าซาร์เซล หลังจากประสบความสำเร็จจากก๊าซชีวภาพ และผลิตน้ำร้อนจากแสงอาทิตย์ มั่นใจสิ้นปี 2556 จะลดต้นทุนพลังงานได้ 26 ล้านบาทต่อปี

นายศุภชัย อังศุภากร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ล่าสุด ได้ริเริ่ม “โครงการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน” ซึ่งใช้ความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Collector) และความร้อนจากชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) มาผสมผสานการทำงานกัน เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการผลิตน้ำร้อนป้อนเข้าหม้อไอน้ำ โดยนำร่องที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรีเป็นแห่งแรก

“โครงการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานนี้ จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศได้ปีละ 432 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเตา 146,283 ลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 2.7 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีกโครงการหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนที่ซีพีเอฟประสบความสำเร็จ และคาดว่าจะดำเนินการขยายผลไปยังโรงงานอื่น ๆ ต่อไป”

นายศุภชัย กล่าวว่า ทางโรงงานมีนบุรี 1 ได้ลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 โดยดำเนินการหลายรูปแบบ เช่น ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต โครงการก๊าซชีวภาพ มีการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันเตาเป็นก๊าซธรรมชาติ และจะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าระบบโคเจเนอเรชั่น 1.5 เมกะวัตต์ ก่อสร้างเสร็จในปี 2556 รวมทั้งอยู่ในระหว่างศึกษาจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยจะมีการติดตั้งที่หลังคาโรงงาน แต่จะลงทุนหรือไม่ ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะตัดสินใจให้ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม หรือ แอดเดอร์ มากน้อยเพียงใด หากยังให้เท่าอัตราเดิม คือ ไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อหน่วย ก็จะมีการลงทุน แต่หากต่ำกว่านี้ คงไม่คุ้มทุนเพราะต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์สูงมาก อย่างไรก็ตาม หากโครงการลดต้นทุนพลังงาน เสร็จสิ้นทั้งระบบในปี 2556 ก็คาดว่าจะลดต้นทุนได้ประมาณ 26 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่า 9,935 ตันต่อปี

ทั้งนี้ โครงการผลิตน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน ใช้เทคโนโลยี Solar Collector ร่วมกับชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) โดยการนำน้ำอุณหภูมิปกติ มาทำให้ร้อนขึ้นเป็น 60 องศาเซลเซียส ด้วยวิธีแลกเปลี่ยนความร้อนจากแสงอาทิตย์ ผ่านชุด Solar Collector จำนวน 195 แผง มีพื้นที่ในการรับแสง 2.56 ตารางเมตร/แผง คิดเป็นพื้นที่รับแสงรวม 499.2 ตารางเมตร จะทำให้ได้น้ำร้อนที่ผลิตจากชุด Solar Collector ประมาณ 20 ล้านลิตร/ปี และมีการนำน้ำร้อนที่ได้จากชุดแลกเปลี่ยนความร้อน (Economizer) จากปล่องไอเสียของหม้อไอน้ำ แลกเปลี่ยนกับน้ำที่อุณหภูมิปกติให้สูงขึ้นเป็น 60 องศา สามารถผลิตน้ำร้อนได้ 10 ล้านลิตร/ปี รวมปริมาณน้ำร้อนที่ผลิตได้ทั้ง 2 ระบบ คิดเป็น 30ล้าน ลิตร/ปี โดยปริมาณน้ำร้อนทั้งหมดนี้จะนำไปใช้เป็นน้ำป้อนเข้าหม้อไอน้ำในกระบวนการผลิต โครงการนี้สามารถลดการใช้น้ำมันเตาที่เคยใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำได้ 146,283 ลิตร/ปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 432 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี หรือเทียบเท่าการปลูกป่า 2.4 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น