xs
xsm
sm
md
lg

คาดปีหน้าคนไทย 80% ใช้ไฮสปีดเน็ต คลังชงลดถือหุ้น THAI PTT MCOT KTB รบ.หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้อำนวยการ สคร.เผย 5 รสก.จับมือใช้โครงข่าย Fiber Optic ร่วมกัน คาดปีหน้า คนไทย 80% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมคาดปี 63 ระบบบรอดแบนด์จะมีความเร็วสูงถึง 100 เมกะไบต์ “คลัง” เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ลดสัดส่วนถือหุ้นใน THAI PTT MCOT KTB ตามมติ ครม.และการพัฒนาตลาดทุน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการศึกษาการใช้โครงการเคเบิลไยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ของรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร ประกอบด้วย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟ้ส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยระบุว่า ความร่วมมือดำเนินการดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมในการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมร่วมกัน เพื่อรองรับการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสารสนเทศของประชาชน

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่ารัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้ามีโครงการ Fiber Optic ที่เหลือจากการใช้งานในกิจการภายใน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการสื่อสารได้ โดยสามารถรองรับการส่งผ่านข้อมูลสารสนเทศได้อีกจำนวนมาก แต่ยังต้องมีการพิจารณาในเชิงเทคนิค โดยเฉพาะจุดเชื่อต่อและการแบ่งพื้นที่การวางโครงข่าย

ดังนั้น ความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่งในครั้งนี้ จะมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในเชิงลึกในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2554 และในปี 2555 จะเริ่มการใช้ทรัพยาการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ได้จริง และช่วยลดต้นทุนและเงินงบประมาณในการลงทุน

“ปีหน้าคาดว่าคนไทย 80% จะเข้าถึงระบบบรอดแบนด์ได้ และภายในปี 2563 ระบบบรอดแบนด์จะมีความเร็วสูงถึง 100 เมกะไบต์ และจะทำให้ผู้รัฐวิสาหกิจประหยัดงบประมาณในการดำเนินการวางโครงข่าย”

นอกจากนี้ ระบบโครงข่าย Fiber Optic ยังสามารถเปิดให้เอกชนเช่าระบบโดยโดยคิดค่าบริการ และรัฐวิสาหกิจะมีการตกลงร่วมกันในการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ต่อไป

ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวอีกว่า การใช้ทรัพยากรร่วมกันของรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเพิ่มประสิทธิรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการบริหารการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน สคร.ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้แพร่หลายมากขึ้น และในอนาคตจะมีการผลักดันการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน เพื่อการใช้ทรัพยากรและการลงทุนเป็นไปอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เตรียมลดสัดส่วนถือหุ้น THAI PTT MCOT KTB

นายสมชัย ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน รสก.โดยระบุว่า สคร.และกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณาลดการถือหุ้น รสก.จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ที่ถือ 51.03%, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ถืออยู่ 65.80%, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถืออยู่ 51.24% และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถืออยู่ 55.15% ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้กรทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ และให้สอดค้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยด้วย

“การลดสัดส่วนหุ้นลงเพื่อให้รัฐวิสาหกิจเกิดความคล่องตัวในการบริหารองค์กร ขณะเดียวกันรัฐวิสาหกิจต้องมีความพร้อมที่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการบินไทยได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการลดส้ดส่วนการถือหุ้นก่อนหน้านี้ โดยการบินไทยจะต้องมีความพร้อม ทั้งเรื่องพนักงาน เทคโนโลยี เพราะธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูง ต้องดูว่ามีหุ้นตัวใดที่คลังถืออยู่มากกว่าที่ ครม.กำหนด เพราะอาจจะมีการนำออกขายในตลาด เพื่อกระตุ้นให้ตลาดคึกคัก เช่น การบินไทย”

สำหรับรายได้ที่ได้จากการขายหุ้นที่กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือลงนั้น สคร.มีแผนจะเสนอให้นำเงินไปซื้อหลักทรัพย์อื่นเพื่อมาบริหารต่อ หรือหากมีรายได้ส่วนเกิน ก็ให้นำส่งรายได้เข้าคลัง ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท ) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การสะพานปลานั้น ปลัดกระทรวงการคลังได้วางนโยบายแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งทาง สคร.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงในรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ขณะเดียวกัน ต้องการให้รัฐบาลใหม่มีการพิจาณรา พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ จากก่อนหน้านี้ ครม.ตีกลับ เพราะเห็นว่าจะเป็นกฏหมายที่สามารถเข้าบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจได้คล่องตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น