xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมวงโคจร ตามรอยดาวเทียม ที่ “พิพิธภัณฑ์ดาวเทียม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พิพิธภัณฑ์ดาวเทียม
มีใครรู้บ้างว่า ดาวเทียมสื่อสารที่เราใช้ดูโทรทัศน์กันอยู่ทุกวันนี้เป็นดาวเทียมดวงที่เท่าไรของไทย? และหลายคนคงยังจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้มีปรากฏการทีวีจอมืด ที่ทำเอาประชาชนผวากันทั้งชาติว่าเป็นสัญญาณของการเกิดปฏิวัติ แต่แล้วไม่นานทีวีก็กลับมาดูได้อีกครั้ง ทำเอาโล่งใจกันไปตามๆกัน

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ฉันจึงเกิดความสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่เราผูกพันติดตามกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จึงได้เดินทางไปค้นหายังบริษัทไทยคม เพื่อไปศึกษาข้อมูลรายละเอียดต่างๆที่ “พิพิธภัณฑ์ดาวเทียม” (Satellite Museum) ถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ใกล้ๆนี่เอง
วงโคจรต่างๆของดาวเทียม
โดย “พิพิธภัณฑ์ดาวเทียม” แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ให้เป็นห้องจัดแสดงความรู้เกี่ยวกับอวกาศ และการสื่อสารผ่านดาวเทียมสำหรับเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป โดยภายในพิพิธภัณฑ์แม้จะเป็นห้องเล็กๆแต่ก็อัดแน่นไปด้วยความรู้ครอบจักรวาล แบ่งออกเป็น 6 โซนด้วยกัน พร้อมทั้งมีวิทยากรที่บรรยายเรื่องราวให้เราฟังอย่างสนุกสนาน

โซนแรก “ความรู้เกี่ยวกับวงโคจรดาวเทียม”(Satellite Orbits) เป็นการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวงโคจรที่สำคัญในรูปแบบของโมเดลจำลอง ประกอบด้วยวงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit) โคจรอยู่ที่ความสูงต่ำกว่า 2,000 กม. ถือว่าอยู่ใกล้พื้นโลกมากที่สุด ดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรนี้ ได้แก่พวกดาวเทียมที่ใช้ในโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม ดาวเทียมที่ใช้ในการสำรวจทรัพยากร ทำแผนที่ประเทศ หรือพยากรณ์อากาศ ดาวเทียมที่ใช้ทางการทหาร หรือดาวเทียมจารกรรม
โซนดาวเทียมและจรวด
วงโคจรที่อยู่ไกลออกไปคือวงโคจรระดับกลาง (Medium Earth Orbit) อยู่ห่างจากพื้นโลกประมาณ 8,000-12,000 กม. ส่วนวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Orbit) อยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 36,000 กม. เหมาะสำหรับดาวเทียมคมนาคม เพราะจานสายอากาศของดาวเทียมจะหันเข้าหาโลกตลอดเวลา สามารถทำให้การสื่อสารระหว่างโลกกับดาวเทียมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และเป็นวงโคจรที่ดาวเทียมไทยคมของเราโคจรอยู่ด้วย
รูปทรงดาวเทียมแบบต่างๆ
ต่อไปเป็นโซนที่ 2 “ดาวเทียม จรวด และฐานยิงจรวดที่สำคัญ” (Satellites, Rockets and Launch Sites) เป็นโซนที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียมที่สำคัญของโลก จรวดรุ่นต่างๆ โดยเป็นการนำเสนอในรูปของโมเดลจำลอง และ Software Presentation ให้เราได้เห็นกันอย่างชัดๆเลยทีเดียว
โมเดลฐานที่ยิงดาวเทียมไทยคม
ตัวอย่างโมเดลดาวเทียมต่างๆ เช่น ดาวเทียมอินเทลแซท-1 เป็นดาวเทียมสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อการพาณิชย์ดวงแรกของโลก ดาวเทียมโมลนิย่า-1 ดาวเทียมสื่อสารโทรคมนาคมดวงแรกของรัสเซีย ดาวเทียมสปุกนิค-1 ดาวเทียมดวงแรกของโลก และยังมีการจำลองฐานยิงเป็นโมเดลให้เราได้เห็นกันด้วย โดยดาวเทียมไทยคมของเราถูกปล่อยที่ฐานยิงศูนย์อวกาศกิอานา เมืองคูรู ประเทศเฟรนช์กิอานา

จากนั้นเป็นโซนที่ 3 “ข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม” (Thaicom Satellite Systems) เป็นโซนที่แสดงข้อมูลของดาวเทียมไทยคมทั้ง 3 ดวง ได้แก่ดาวเทียมไทยคม 1A ที่ปลดระวางไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2553 ดาวเทียมไทยคม 2 ก็ได้ถูกปลดระวางไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2553 เช่นกัน และดาวเทียมไทยคม 3 ซึ่งเกิดการผิดพลาดทำให้ไม่สามารได้ถูกปลดระวางไปแล้วเมื่อปี พ.ศ.2549
โมเดลดาวเทียมไทยคม 1-5
แต่จริงๆแล้วดาวเทียมไทยคมได้ถูกนำขึ้นโคจรไปแล้ว 5 ดวงด้วยกัน โดยดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมที่ใช้ในกิจการบรอดแบนด์ หรือก็คือการรับ-ส่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ส่วนดาวเทียมไทยคม 5 นั้นเป็นดาวเทียมสื่อสารโทรคมนาคมที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเอง

วิทยากรที่บอกกับฉันว่า การเกิดทีวีจอมืดเมื่อไม่นานมานี้ มีปัญหาที่เรียกว่า อิเล็กโทร สเตติก ดิสชาร์จ หรือการถ่ายเทประจุอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหาย ดาวเทียมจึงเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่เซฟโหมด และหันหน้าเข้าหาพระอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ได้นั้นเอง
รูปทรงดาวเทียมไทยคม 5
โซนที่ 4 เป็นโซน “ข้อมูลเกี่ยวกับไอพีสตาร์” (iPSTAR Broadband Satellite System) เป็นการแสดง เทคโนโลยีดาวเทียมบรอดแบนด์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก และเป็นดาวเทียมดวงที่ 4 ซึ่งถูกออกแบบให้รองรับการใช้งานด้านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต (Broadband Internet) นอกจากนั้นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยังมีบริการชุดอุปกรณ์ภาคพื้นดินของไอพีสตาร์ ที่สามารถใช้ร่วมกับระบบดาวเทียมปัจจุบัน โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2544
แสดงการรับส่งสัญญาณดาวเทียมไทยคม
ต่อจากนั้นคือ โซนที่ 5 “การประยุกต์ใช้งานดาวเทียม” (Satellite Applications) เป็นโซนที่ผู้เข้าชมจะได้ชมการสาธิตการประยุกต์ใช้งานดาวเทียมในด้านต่างๆ เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแบบทางเดียว (Internet Turbo) ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูง (Thaicom ProTrunk) ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมๆ ที่ใช้กับเทอร์มินอลของไอพีสตาร์ และระบบรับส่งรายการโทรทัศน์โดยตรงผ่านดาวเทียม หรือ Digital Direct-To-Home
โซนประยุกต์ใช้งานดาวเทียม
และสุดท้ายใน โซนที่ 6 “โดมกลาง” ในโซนนี้ทำให้ฉันถึงกับตะลึง เมื่อวิทยากรบอกให้ฉันเงยหน้าดูในโซนที่ 6 เพราะสิ่งที่ฉันเห็นเป็นการแสดงโมเดลจำลองของดาวเทียมสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อการพาณิชย์ในวงโคจรค้างฟ้า ที่โคจรอยู่รอบโลกของเรามีอยู่มากมายกว่า 223 ดวง เลยทีเดียว ทั้งๆที่เทคโนโลยีดาวเทียมนี้ไม่ใช่สิ่งที่คิดค้นกันได้ง่ายๆ ไม่ได้ผลิตกันได้เยอะๆ และไม่ใช่ราคาถูกๆ แต่ก็มีโคจรกันอย่างเกลื่อนฟ้าเลยก็ว่าได้
โมเดลจำลองดาวเทียมสื่อสารที่อยู่ในวงโคจรค้างฟ้า
เมื่อชม “พิพิธภัณฑ์ดาวเทียม” กันเสร็จแล้ว ก็ทำให้ฉันได้รู้ว่าดาวเทียมที่รับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์ และสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เราใช้กันทุกวันนั้นคือดาวเทียมไทยคม 5 และดาวเทียมไทยคม 4 และยังได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับดาวเทียมมากมาย ทำให้ฉันตระหนักว่าเทคโนโลยีมันก้าวล้ำยิ่งขึ้นทุกวันจริงๆ
โมเดลจรวดและดาวเทียมไทยคม4
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์ดาวเทียม” ตั้งอยู่ที่ บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ถ.รัตนาธิเบศร์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยเปิดให้เข้าชมเป็นหมู่คณะหรือดูงาน และต้องติดต่อนัดล่วงหน้าเพื่อเตรียมวิทยากร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2591-0736-49 ต่อ 8493-8494
กำลังโหลดความคิดเห็น