xs
xsm
sm
md
lg

สะพัดฮุบ US บล.ยูโอบี ซื้อกลุ่มทุนญี่ปุ่นปล่อยขาย-วงในเชื่อเกิดขึ้นจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สะพัดห้องค้า บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ฮุบ บล.ยูไนเต็ด ดันแรงซื้อหุ้น US พุ่งเพื่อเก็งกำไรรับข่าว วงในเชื่อเกิดขึ้นจริง แต่เตือนนักลงทุนอย่าประมาท ระวังซ้ำรอยกรณี บล.บีฟิท ชี้รวมกันก็ยังไซส์เล็กแชร์เพิ่มขึ้นไม่มาก พร้อมแนะจับตาทิศทาง “เอพีเอฟ” กลุ่มทุนใหญ่จากญี่ปุ่นจะทิ้งทั้งยวง หรือกอดอีกบริษัทจดทะเบียนแน่น ด้าน บล.เอเซีย พลัส เผย แชร์ไตรมาส1 หด เพราะไม่ปรับลดค่าคอมฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า วานนี้ (24 พ.ค.) ในการซื้อขายหลักทรัพย์ประจำวันตามปกติ พบว่า ราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) (US) ได้ปรับตัวสูงขึ้น สืบเนื่องจากมีลือข่าวว่า ทาง บล.ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) หรือ UOBKH เตรียมที่จะประกาศข่าวเข้าซื้อกิจการของ บล.ยูไนเต็ด ทำให้เกิดแรงซื้อเพื่อเข้าเก็งกำไรในหุ้น US รับข่าวดังกล่าว

ทั้งนี้ ณ เวลาปิดตลาด (17.00 น.) US ปิดที่ 5.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.90 บาท หรือ 21.95% ระหว่างวันปรับตัวสูงสุด 5.15 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2.05 ล้านบาท ขณะที่หุ้น UOBKH ปิดที่ 3.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท หรือ 1.19% ไม่มีมูลค่าการซื้อขาย

แหล่งข่าวในวงการหลักทรัพย์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ราคาหุ้น US ขณะนี้น่าจะเก็งจากแรงซื้อของนักลงทุนเพื่อเก็งกำไรรับข่าวดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า หากการเทกโอเวอร์เป็นจริง การเข้าซื้อกิจการ US ในครั้งนี้ ก็ช่วยเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในธุรกิจหลักทรัพย์ให้กับ UOBKH ได้ไม่มากนัก เนื่องจากนับตั้งแต่ต้นปี 54 จนถึงปัจจุบันมาร์เก็ตแชร์ของ US อยู่ที่ 0.73% ส่วนของ UOBKH มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 2.33% เมื่อรวมกันแล้วก็จะเพิ่มเล็กน้อยเท่านัเน แต่ก็ทำให้ UOBKH สามารถเลื่อนอันดับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 15 ได้จากเดิมที่อยู่ในอันดับที่ 22 และมีมารร์เก็ตแชร์ 3.06%

ส่วนราคาที่จะเสนอซื้อนั้น ประเมินว่า หากมีการตกลงซื้อขายกันจริงคาดว่า UOBKH จะให้ราคาสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book value) ของ US ที่ขณะนี้อยู่ที่ 5.65 บาท/หุ้น

“จากการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในบริษัท ทำให้เชื่อว่าดีลดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าตอนนี้อยู่ในขั้นตอนใดแล้ว เพราะผู้บริหารทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาเกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรับตัวรองรับการเปิดเสรีฯ ที่กำหนดเวลาใกล้เข้ามาเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ทำดีลทั้งสองฝ่าย ต่างเคยมีข่าวการควบรวมกิจการ และการตัดขายกิจการอื่นๆ ออกมาก่อนหน้านี้ โดยในส่วนของ UOBKH นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทดังกล่าว มีข่าวเข้าซื้อกิจการ บล.ด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีการแสดงความจำนงเข้าซื้อกิจการ บล.บีฟิท (BSEC) มาแล้วเมื่อช่วง มี.ค.2552 แต่ท้ายที่สุดต้องยกเลิกไป โดยช่วงนี้ราคาหุ้นทั้ง UOBKH และ BSEC มีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมาก และมีดีลไม่สำเร็จได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนตามกระแสข่าว เดือดร้อนจนทำให้ ตลท.ต้องเข้ามาตรวจสอบ

ต่อมา UOBKH ก็มีข่าวผัวผันเกี่ยวข้องกับ บล.โกลเบล็ก โดยมาจากข่าวการเข้าซื้อหุ้น บมจ.โกลเบล็ก โอลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) ของธนาคาร ยูโอบี (สิงคโปร์) ที่เป็นบริษัทแม่ ผ่านโบรกเกอร์ต่างชาติ แล้วในที่สุดก็ยุติไป

“เรื่องนี้ เมื่อมีกระแสข่าวเกิดขึ้น ก็ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเช่นกัน จึงอยากเตือนนักลงทุนระมัดระวังในการเข้าลงทุนด้วย”

ด้าน บล.ยูไนเต็ด นั้น หากดีลดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะเป็นครั้งที่ 2 ที่มีการเปลี่ยนของผู้ถือหุ้นใหญ่ จากครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วง ม.ค.2549 ซึ่ง กลุ่มกองทุน เอ.พี.เอฟ โฮลดิ้งส์ จากญี่ปุ่น ได้เข้าซื้อหุ้น บล.ยูไนเต็ด จากกลุ่มตระกูลว่องกุศลกิจ 25.43% ในราคาหุ้นละ 8.04 บาท ก่อนที่กลุ่มทุนดังกล่าวจะสยายปีก เข้าไปซื้อกิจการลีสซิ่งอีกราย คือ บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) จำนวน 16.660 ล้านหุ้น หรือ 37.02% ในปี 2550

ต่อมาช่วงปลายปี 2550 บล.ยูไนเต็ด ได้แตกไลน์ธุรกิจ จัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูไนเต็ด ขึ้น ซึ่งไล่เลี่ยกับทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ เอพีเอฟ ได้จัดตั้งบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด โดยการซื้อกิจการของของบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินชัวร์รันส์ 100% และเปลี่ยนชื่อใหม่พร้อมเพิ่มทุนเสริม

โดยในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มมีข่าวลือว่า ทางกองทุนเอพีเอฟ ประสบปัญหาจนอาจถอนเงินลงทุนในประเทศไทยกลับไปญี่ปุ่น เนื่องจากเหตุการณ์ความวุ่นวายภายในประเทศไทย สร้างผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ทางกลุ่มลงทุนไว้ จนในที่สุด เมื่อ ธ.ค.2553 บริษัทประกันภัยดังกล่าวต้องปิดตัวลงตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หลังไม่สามารถแก้ไขการเงินได้ ขณะที่ บลจ.ยูไนเต็ด ก็ถูกขายให้กับ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ หาก บล.ยูไนเต็ด ถูกขายให้กับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน จริง จะทำให้กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น เหลือการถือหุ้นบริษัทจดทะเบียนเพียงแห่งเดียวนั่นคือ บมจ.กรุ๊ปลีส (GL) ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนในการลงทุนกลับคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ดี

“กรุ๊ปลีส มีผลดำเนินงานที่ดี แต่อะไรๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้ เหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจมีผลต่อกองทุน เอพีเอฟ ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องอรฟังคำชี้แจงที่ชัดเจนจากผู้บริหารก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบัน ณ วันที่ 4 เม.ย.2554 บล.ยูไนเต็ด มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท เอ.พี.เอฟ.โฮลดิ้งส์ จำกัด 68.79%, Engine Holdings Asia Pte.Ltd. 9.80%, นายสิทธิชัย ลิมป์โสวรรณ 2.55% ,นางศิรดา ลิมป์โสวรรณ 2.23% และ UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED สัดส่วน1.84 %

บล.เอเซีย พลัส เผย แชร์ไตรมาส1หด

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบล.เอเซีย พลัส หรือ ASP เปิดเผยว่า ส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ของบริษัทในไตรมาส 1/54 ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 4.96% จากช่วงปีก่อน ที่อยู่ 5.29% เนื่องจากบริษัทมีนโยบายที่จะไม่ลดค่าธรรมเนียมการซื้อขาย (ค่าคอมมิชชัน) ให้กับลูกค้า จึงมีลูกค้าบางส่วนย้ายไปใช้บริการกับ บล.อื่นบ้าง แต่มีลูกค้าอีกกลุ่มที่บยินดีที่จะค่าจ่ายค่าคอมมิชชันให้กับบริษัทเพื่อบริการที่ดี

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 คาดว่า จะใกล้เคียงกับไตรมาส 1/54 จากวอลุ่มการซื้อขายปรับตัวดี และบริษัทจะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลในหุ้นที่บริษัทเข้าไปลงทุน และรับรู้รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK โดยในปีนี้บริษัทมีงานที่ปรึกษาการเงินอยู่รวม 23 ดีล คาด รายได้ทั้งปีโต 10-15% จากปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น