ผู้บริหาร TOP ปฏิเสธข่าวตั้ง “ควอนท์” ที่ปรึกษาซื้อหุ้น ESSO หลังบอร์ดไฟเขียว 5 หมื่นล้าน เพื่อขยายธุรกิจโรงกลั่น โดยเข้าไปถือหุ้น 65% แต่ยอมรับ มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจ
นางนิธิมา เทพวนังกูร รอองกรรมการอำนวยการด้านการเงิน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อบางแห่งที่ระบุว่า คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินแห่งหนึ่ง เพื่อเข้าทำการตรวจสอบการซื้อกิจการแห่งหนึ่งนั้น บริษัทขอชี้แจงว่า ข้อความที่ปรากฏในข่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางธุรกิจ และสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุน
นอกจากนี้ ตามที่ปรากฏในข่าวถึงผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2554 ของบริษัทนั้น บริษัทมิได้เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด ทั้งนี้ งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ระหว่างการสอบทาน
โดยก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดไทยออยล์ วาระลับพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2554 ได้พิจารณาการซื้อกิจการ เอสโซ่ โดยการเสนอซื้อหุ้นในส่วนที่ Exxon Mobil International Holdings ถืออยู่จำนวน 65% ซึ่งที่ประชุมบอร์ดมีมติให้เข้าทำการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน (Due Diligenc) และแต่งตั้ง บริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงิน
ส่วนราคาที่เสนอซื้อนั้น จะต้องมีการต่อรองกันระหว่างบริษัทไทยออยล์ และ Exxon Mobil International Holdings เนื่องจาก Exxon Mobil International Holdings เสนอราคาเบื้องต้น 2-3 เท่าของราคาตลาดนั้น เป็นการคิดตามมูลค่าทรัพย์สินของบริษัท เอสโซ่ จะได้ราคาที่ 2-3 เท่าของราคาตลาด แต่เชื่อว่า ราคาตลาดจะต่ำกว่านี้
สำหรับมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นในการซื้อหุ้นเอสโซ่ส่วนของ Exxon Mobil International Holdings ที่ถืออยู่ 2,264 ล้านหุ้น หรือ 65.43% นั้น ราคายังไม่เป็นที่ตกลงกัน แต่คาดว่าจะมากกว่า 2 เท่าตัวของราคาตลาด งบประมาณที่ใช้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ประชุมบอร์ดในวาระพิเศษดังกล่าว ได้อนุมัติวงเงินงบลงทุนไว้แล้ว โดยแหล่งเงินจะมาจากเงินสดที่ไทยออยล์ถืออยู่ส่วนหนึ่ง และเงินกู้อีกส่วนหนึ่งนอกจากนี้ ไทยออยล์จะขอยกเว้นการทำคำเสนอซื้อจากนักลงทุนเป็นการทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
สาเหตุสำคัญ เนื่องจากนโยบายใหม่ของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก เริ่มเบนเข็มจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ไปสู่ธุรกิจขุดเจาะน้ำมัน ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า และอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ Exxon Mobil International Holdings ถอนตัวจากธุรกิจโรงกลั่นในประเทศ เนื่องจากการแข่งขันที่สูง และโครงสร้างการตลาดถูกครอบครองโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าตลาดในขณะนี้ ทำให้มีผลต่อค่าการตลาดที่ไม่เป็นอิสระ ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง