xs
xsm
sm
md
lg

ระยองเพียวฯเล่นแรงจ่อฟ้องPTTARทุบหุ้น-ยันปัญหาอยู่ในขั้นอนุญาโตตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ระยองเพียวริฟายเออร์"เต้น เตรียมหารือทนายความฟ้อง" PTTAR" ที่ออกมาระบุว่าจะไม่ขายคอนเดนเสท เรสซิดิวให้อีกหากสิ้นสุดสัญญาต้นปีหน้า ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เทขายหุ้นRPC ร่วงหนัก ยันปัญหาสัญญาซื้อขายวัตถุดิบระหว่าง RPC-PTTอยู่ในขั้นอนุญาโตตุลาการ คาดว่ามีความชัดเจนภายในปีนี้ แย้มอยู่ระหว่างการศึกษาการซื้อ"สยามกัลฟ์ฯ"เพื่อเป็นทางออกหากปตท.หยุดป้อนวัตถุดิบให้ ระบุเดินหน้าขายTDRที่ไต้หวันเหมือนเดิม เพื่อระดมทุน 800 ล้านบาทใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

นายสัจจา เจนธรรมนุกูล ประธานกรรมการ บริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน) (RPC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทจะหารือกับฝ่ายกฎหมายเพื่อหาแนวทางการดำเนินการฟ้องร้องหลังจากได้รับความเสียหายภายหลังจาก ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)(PTTAR) ออกมาระบุว่า จะไม่มีการขายคอนเดนเสท เรสซิดิว (CR) ให้กับบริษัทอีกภายหลังสัญญาซื้อขายวัตถุดิบสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค.2555 ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นRPC ร่วงอย่างแรงในช่วงที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้านี้ ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ได้มีการออกมาระบุว่าจะไม่ขายคอนเดนเสทฯ ให้กับบริษัทหลังสัญญาซื้อขายครบกำหนด 15 ปี ในต้นปีหน้า ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการลดการปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนลง ดังนั้น บริษัทได้ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้คู่สัญญา คือ บมจ.ปตท. ให้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายคอนเดนเสท เรสซิดิวที่ทำไว้กับบริษัท โดยระบุว่าสัญญานี้มีการต่อสัญญาโดยอัตโนมัติทุกๆ 15ปีมาตั้งแต่ปี 2552 ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 9,900 ล้านบาท หากปตท.และปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่นหยุดป้อนวัตถุดิบให้ คาดว่าคดีความดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการเตรียมแผนในการรองรับปัญหาดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น หกปตท.หยุดการส่งมอบคอนเดนเสทฯให้บริษัท โดยมีแผนจะซื้อกิจการบริษัท สยามกัลฟ์ ปิโตรเคมีคัล (SGPC) ซึ่งมีกำลังการผลิต 5 หมื่นบาร์เรล/วัน อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด พร้อมกับเจาจากับพันธมิตรทางธุรกิจต่างชาติ ที่เป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันและมีเครือข่ายในการจำหน่ายน้ำมันเพื่อร่วมมือกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาร์เรล/วัน

นายสัจจากล่าวต่อไปว่า หากปตท.ยกเลิกการจำหน่ายคอนเดนเสทฯ ให้ ย่อมส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นRPC เนื่องจากธุรกิจน้ำมันคิดเป็นรายได้หลัก 60% ของรายได้รวมของบริษัท นอกจากนี้ ปัญหาความไม่แน่นอนด้านวัตถุดิบ ทำให้บริษัทชะลอการลงทุนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 4 ซึ่งภาครัฐบังคับให้น้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในประเทศต้องเป็นน้ำมันยูโร 4

แต่บริษัทมั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน เนื่องจากน้ำมันที่ผลิตได้จากโรงกลั่นRPC จะเน้นจำหน่ายให้กับธุรกิจประมง และส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ทั้งหมด แทนการส่งออกน้ำมันของคู่แข่งที่เน้นการจำหน่ายน้ำมันยูโร 4 ในประเทศ ส่วนปั๊มน้ำมันระยองเพียวก็จะซื้อน้ำมันเกรดยูโร 4 จากโรงกลั่นภายในประเทศเพื่อจำหน่ายแทน

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนธุรกิจพลังงานทางเลือก อาทิ โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ขนาด 3-5 เมกะวัตต์ และร่วมทุนในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่จังหวัดกระบี่ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ คือ น้ำมันปาล์ม เพื่อป้อนโรงงานผลิตไบโอดีเซล (บี 100) ของบริษัทในเครือ ที่มีกำลังผลิต 3 แสนลิตร/วัน หลังจากปีก่อนเกิดความผันผวนด้านราคาวัตถุดิบมากจนทำให้รัฐชะลอการบังคับใช้น้ำมันดีเซลบี 5 ออกไป และในอนาคตบริษัทมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตบี 100 อีกเท่าตัว คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาท

ส่วนแผนการเสนอขาย TDR จำนวน 200 ล้านหุ้นต่อตลาดหลักทรัพย์ GreTai Secu-rities Market (GTSM) ที่ไต้หวัน จะไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่นออกมาระบุว่าจะไม่ต่อสัญญาขายคอนเดนเสทฯ ให้บริษัทอีก แม้ว่าเบื้องต้นจะกระทบต่อราคาหุ้นRPCหุ้นก็ตาม โดยบริษัทคาดว่าจะเข้าซื้อขายTDRในปลายเดือนก.ค. โดยสัปดาห์หน้า ก.ล.ต.ไต้หวันจะอนุมัติไฟลิ่งได้ คาดว่าจะระดมทุนได้ประมาณ 800 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม หากการเสนอขายTDR ที่ไต้หวันประสบความสำเร็จด้วยดี ก็จะเป็นแหล่งเงินทุนใหม่ของบริษัทในการระดมทุนเพื่อใช้ในการลงทุนโครงการใหม่ๆ ต่อไป

นายชำนิ จันทร์ฉาย ประธานที่ปรึกษาบริษัท ระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ บริษัทจะหารือกับผู้บริหารบริษัท ฟอร์โมซา ยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีและการกลั่นที่ไต้หวัน หลังจากฟอร์โมซาให้ความสนใจในธุรกิจพลังงานทดแทนที่บริษัทฯดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งRPCมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปลงทุนในไต้หวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น