xs
xsm
sm
md
lg

“เอกยุทธ” ยันมีแก๊งปั่นหุ้นช่วงเลือกตั้งจริง เย้ยไม่สามารถจับมือใครดมได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอกยุทธ” ยอมรับ มีขบวนการปั่นหุ้นช่วงเลือกตั้งจริง เผยเกิดมานานแล้ว ตั้งแต่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ ยันสามารถตรวจสอบได้หากพบข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับว่า จนท.จะตรวจสอบจริงหรือไม่ และสอบลึกเพียงใด แต่เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง แนะจับตาหุ้นกลุ่มทุนที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล ทิศทางดีจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง “ตลท.-ก.ล.ต.” ประสานเสียงระบบตรวจสอบเจ๋ง “ทีดีอาร์ไอ” เผยผลวิจัยปั่นหุ้นหวังผลทางการเมือง

นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ประธานกรรมการบริหาร เครือโอเรียนเต็ล มาร์ท กรุ๊ป กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาหนุนให้สำนักลงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดการกลุ่มนักการเมืองที่ปั่นหุ้นในช่วงเลือกตั้ง โดยยอมรับว่า การปั่นหุ้นเพื่อหวังผลการเลือกตั้ง มีมานานแล้วตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

นายเอกยุทธ กล่าวว่า การสร้างราคาในตลาดหุ้นไทย เป็นขบวนการทางการเมืองเข้ามาปล่อยข่าว และนำผลประโยชน์จากตลาดหุ้นไปใช้ในการเมือง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้หากพบข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบจริงหรือไม่ และสอบลึกเพียงใด

“แม้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงาน ก.ล.ต.จะมีอำนาจโดยตรงในการเข้ามาตรวจสอบ แต่เชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง"

นายเอกยุทธ กล่าวอีกว่า ตนมีความมั่นใจว่า หุ้นของกลุ่มนักลงทุนที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล จะมีการเคลื่อนไหวในทิศทางค่อนข้างดี ตั้งแต่ช่วงนี้ไปถึงการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากพบว่าราคาหุ้นตัวใดมีทิศทางดีขึ้นผิดสังเกต แนะนำนักลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน

นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการตรวจสอบความเลื่อนไหวของราคาที่ผิดปกติ โดยยืนยันว่า ระบบการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ไม่ได้แยกประเภทการตรวจสอบหรือเจาะจงเฉพาะกลุ่มนักการเมือง

“ตลาดหลักทรัพย์มีเจ้าหน้าที่ดูแลการซื้อขายให้เป็นไปตามปกติอยู่แล้ว และก็มีระบบไอทีคอยส่งสัญญานเตือน หากการซื้อขายมีความผิดปกติ เราเลือกที่จะมอนิเตอร์กลุ่มการเมืองไม่ได้ เพราะทุกคนมีสิทธิเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดก็มีหน้าที่ดูแลการซื้อขายทุกกลุ่มอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็ไม่ได้พบความผิดปกติการซื้อขายหุ้นในตลาดแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนหากมีข่าวเกิดขึ้นตลาดหลักทรัพย์ก็จะให้มีการชี้แจง และถ้าชี้แจงแล้วไม่เป็นที่พอใจ ตลาดก็จะส่งข้อมูลให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบต่อ หากพบสิ่งผิดปกติ ก.ล.ต.ก็จะส่งต่อให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

ด้าน นายวิจิตร สุพินิจ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต.ก็มีการประสานงานกันอยู่แล้วในการที่จะตรวจสอบดุแลการซื้อขายหุ้นในตลาด ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่ได้ส่งข้อมูลความผิดปกติการซื้อขายหุ้นที่จะเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนการเมือง

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เชื่อมั่นว่า ระบบไอทีของตลาดทรัพย์สามารถตรวจสอบการซื้อขายหุ้นในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มจะมีความซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้การกล่าวโทษดำเนินความผิดในตลาดหุ้นไม่ต้องผ่านกระบวนการส่งฟ้องทางสำนักงานตำรวจและดีเอสไอ โดยผ่านไปยังขั้นตอนอัยการเลยนั้น นายวิจิตร กล่าวคงไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นไปตามขั้นตอนทางกฏหมาย และปัจจุบันกระบวนกล่าวโทษก็มีความรวดเร็วมากขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดีเอสไอก็มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดในตลาดทุนมากขึ้น

นายวิจิตร กล่าวว่า การะบวนการกล่าวโทษในคดีความผิดด้านตลาดทุนในอนาคตจะเน้นวิธีการป้องปรามและดำเนินการทางแพ่ง เพื่อความคบ่องตัวในการดำเนินการ ซึ่งแนวโน้มการปรับผู้ที่กระทำความผิดด้านตลาดทุนจะสูงขึ้น จากตัวเลขในไตรมาสแรกที่ออกมาพบว่ามูลค่าที่ก.ล.ต. สั่งปรับบุคคลที่กระทำความผิดสูงกว่าปี 53 ทั้งปีและในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่สูงขึ้น

รายงานข่าวเพิมเติมระบุว่า มีการเปิดเผยงานวิจัยของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการธุรกิจเอกชนไทย กับแนวทางแก้ไขและป้องกัน (Corruption in the Private Sector: Preventive and Remedial Measures) ที่เสนอต่อ สานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่ามีส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีในตลาดหุ้น และสำนักงาน ก.ล.ต.

ทั้งนี้ ในงานวิจัยระบุว่า จากการศึกษากรณีการทุจริตของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ทั้ง 5 กรณี ได้แก่ บมจ.ศิครินทร์ บมจ.รอยเนท บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น บมจ.เซอร์คิทอิเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ และ บมจ.เอส.อี.ซี.ออโตเซลส์ แอนด์ เซอร์วิส คณะผู้วิจัยสามารถสรุปลักษณะและรูปแบบของการกระทำความผิด การทุจริตที่เกิดขึ้นในทุกกรณีเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริหาร ประธานกรรมการ หรือกรรมการบริษัท เพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยการดำเนินการหลัก 2 ประการ คือ 1.การยักยอกทรัพย์ของบริษัทโดยตรง และ 2.การสร้างราคาหลักทรัพย์ เพื่อหวังผลกำไรจากการขายหุ้นหรือหวังผลทางการเมืองบางประการ

สำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้างราคาหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ผู้บริหารจะมีวิธีการในการผลักดันให้ราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพื่อหวังทำกำไรจากการขายหุ้นแบบการซื้อถูกขายแพง โดยจะใช้กลวิธีในการสร้างรายได้เทียมให้กับบริษัท เพื่อแสดงผลการดำเนินงานที่ดีกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่ทราบข้อมูลเบื้องลึก ทั้งนี้ มักจะอาศัยกลยุทธ์ทางการบัญชี

พร้อมทั้งยังระบุว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทั้ง 5 กรณีตัวอย่างที่ได้ศึกษานั้น ภายหลังจากที่ ก.ล.ต.ได้ดำเนินการกล่าวโทษแล้ว มีเพียงกรณีทุจริตของ บมจ. รอยเนท เท่านั้นที่ศาลชั้นต้นได้ประทับรับฟ้องในปี 2546 ในขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน นอกจากนี้ ศาลชั้นต้นยังได้ยกฟ้องคดีทุจริตของ บมจ.เอส.อี.ซี.ในกรณีการจัดซื้อรถยนต์ซึ่งมีหลักฐานที่ทำให้น่าเชื่อว่าเป็นการจัดซื้อที่มิได้เกิดขึ้นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น