xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เผยจุดบอดพรรคการเมือง ไร้วิสัยทัศน์ด้านพลังงาน-มองระยะสั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท. เซ็งนโยบาย "พลังงาน" ในพรรคการเมือง มองระยะสั้น-ไร้วิสัยทัศน์ แก้ปัญหาเงินเฟ้อ-ค่าครองชีพ โดยการตรึงราคา ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันไม่เห็นคุณค่า ห่วงการบิดเบือนตลาดที่นานเกินไป อาจกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภค แนะให้จับตาแต่ละพรรคชูประเด็นล่อใจ เรียกคะแนนเสียงเลือกตั้ง นัก ศศ.มธ. แนะการตรึงราคา ควรช่วยเฉพาะกลุ่ม พร้อมเสนอให้ประเทศไทยควรมีวาระแห่งชาติ ขณะที่ ธปท. หนุนให้มีแผนแม่บทจริงจัง เพื่อให้นโยบายไม่ต้องเปลี่ยนไปตามรัฐบาล

นายณัฐชาติ จารุจินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางพลังงานในประเทศ โดยระบุว่า หลังจากนี้ต่อไป คงต้องจับตานโยบายเรื่องของพลังงานของประเทศของแต่ละพรรคการเมือง ที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยที่ผ่านมา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ยอมรับว่า นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเป็นการมองระยะสั้น เพื่อเป็นการลดภาวะเงินเฟ้อ และแก้ปัญหาค่าครองชีพ โดยการตรึงราคา ส่งผลให้ผู้ใช้น้ำมันไม่เห็นคุณค่า ซึ่งในความเป็นจริง พรรคการเมืองควรต้องมองในระยะยาว อย่างน้อยก็ต้องในระยะ 20-30 ปีข้างหน้า เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของประชาชน

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เชื่อว่า หากมีการงดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปถึงหลังเดือนกันยายน 2554 จะเป็นการบิดเบือนราคาให้ต่ำกว่าความเป็นจริง และจะส่งผลอย่างมากต่อการใช้พลังงานที่ไม่ประหยัด และอาจกระทบต่อเงินกองทุนน้ำมันเชื่อเพลิง

"การตรึงราคาดีเซล จะส่งผลกระทบในระยะยาว และไม่ทำให้เกิดการใช้พลังงานที่ประหยัด และยังไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้รถน้ำมันเบนซินด้วย"

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เห็นด้วย หากจะมีการเริ่มลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งในขณะนี้ราคาอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม และทยอยปรับขึ้นในภาคอุตสาหกรรม และควรมีการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เนื่องจากหากมองจากราคาต้นทุน จะถูกกว่า LPG โดยดูจากสภาพความร้อน ถึงร้อยละ 40 ซึ่งมีช่องว่างให้มีการปรับขึ้น และสร้างความสมดุลให้กับทางภาครัฐเอกชน และประชาชนผู้ใช้ให้แบกรับภาระเท่าๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทาง ปตท. แบกรับภาระราคา NGV อยู่ถึง 27,000 ล้านบาท ซึ่งการตรึงราคาในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการขยายสถานีจ่ายเชื้อเพลิง NGV เพิ่มขึ้น

ด้านนายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายราคาพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งหากมีรัฐบาลชุดต่อไป ควรบรรจุให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่วนการตรึงราคาดีเซล ควรช่วยเพียงบางกลุ่มที่เดือดร้อนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

"ราคาน้ำมันปีนี้ มีแนวโน้มเฉลี่ยที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งการกำหนดนโยบายและราคาน้ำมันที่เหมาะสมของไทย ถือเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างการบริโภคที่เพียงพอต่อความต้องการ"

ส่วนนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่า ประเทศไทยควรมีแผนแม่บทในการใช้พลังงานอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างทางเลือกในการใช้พลังงาน รวมถึงเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน เช่น ลดต้นทุนภาคการขนส่ง ทั้งนี้ นโยบายการใช้พลังงานไม่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น