xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวควบกิจการ PTTCH-PTTAR มั่นใจ บ.ใหม่เข้าเทรด ส.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ถือหุ้นไฟเขียว ควบรวมกิจการPTTCH-PTTAR มั่นใจบริษัทใหม่เข้าเทรดในตลาดหุ้นส.ค.นี้ โดยบริษัทใหม่มีEnterprise Value เป็นอันดับ 3ในอาเซียนรองจากปิโตรนาสเคมิคอล และปูนซิเมนต์ไทย แต่หากพิจารณากำลังการผลิตปิโตรเคมีนับว่าใหญ่ที่สุดในไทยด้วยกำลังผลิต 8.2 ล้านตัน/ปี

วานนี้ (21เม.ย.) ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)(PTTAR)และ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด(มหาชน)(PTTCH)มีมติอนุมัติการควบรวมกิจการระหว่าง2 บริษัทตามความคาดหมาย โดยบริษัทใหม่ที่ได้จากการควบรวมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และบริษัทใหม่จะมีมูลค่าตลาด(มาร์เก็ตแคป)ใหญ่เป็นอันดับ 4ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมกิจการระหว่างPTTARกับPTTCHจะทำให้บริษัทใหม่มีความเข้มแข็งมากขึ้นในระยะยาว และเป็นบริษัทที่มีการผลิตแบบควบวงจรทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีรายใหญ่ที่สุดในประเทศ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ช่วยลดความเสี่ยงจากวัฎจักรราคา
ซึ่งภายหลังการควบรวมกิจการแล้วจะมีการพิจารณาการลงทุนโครงการใหม่ๆเพิ่มเพื่อสร้างความเติบโตของธุรกิจในอนาคต

โดยบริษัทใหม่จะมีกำลังการผลิตปิโตรเคมีรวม 8.2 ล้านตัน/ปี สูงกว่าปูนซิเมนต์ไทยที่มีกำลังการผลิตปิโตรเคมี 7.6 ล้านตัน/ปี และหากเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีในภูมิภาคอาเซียนพบว่าบริษัทใหม่มีEnterprise Value ใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากปิโตรนาสเคมิคอล ของมาเลเซีย และเครือซิเมนต์ไทย(SCG)

นายบวร กล่าวต่อไปว่า หลังจากการควบรวมกิจการแล้ว บริษัทฯใหม่มีแผนใช้เงินลงทุนเพื่อสร้างSynergy ประมาณ 92 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2557 โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและได้ประโยชน์จากการSynergyประมาณปีละ 80-154ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นอยู่กับราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันดิบอยู่ระดับ62 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจะได้ประโยชน์ร่วม 80 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากน้ำมันดิบขึ้นไปถึง 135
เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะมีผลประโยชน์จากการSynergyรวม154 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ได้มีการหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาการลงทุนโครงการใหม่เพื่อสร้างโอกาสการโตทางธุรกิจ อาทิ โพรพิลีนออกไซด์ ABS โพลีคาร์บอเนต PMMA แต่ทั้งนี้คงต้องพิจารณาโอกาสการลงทุนโครงการใหม่ของปตท.เคมิคอลด้วย โดยพิจารณาว่าโครงการใดให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่ากัน คาดว่าจะมีความชัดเจนหลังจากดำเนินการควบรวมกิจการทั้ง 2 บริษัทแล้ว

นายบวร กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2554ว่า บริษัทฯคาดมีกำไรสุทธิสูงกว่าช่วงไตรมาส 4/2553 เนื่องจากราคาอะโรเมติกส์ปรับตัวสูงขึ้นและมีมาร์จินดีกว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าในไตรมาสแรกปีนี้บริษัทฯจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประมาณ40วันก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ราคาอะโรเมติกส์ปรับขึ้นด้วย โดยคาดว่าทิศทางราคาอะโรเมติกส์จะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2นี้ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังไม่นิ่ง ขณะที่โรงกลั่น และโรงงานปิโตรเคมีของญี่ปุ่นยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้ปริมาณการส่งออกพาราไซลีนของญี่ปุ่นจากเดิมที่ส่งออกถึง 2 ล้านตัน/ปีได้ลดลง แต่ตลาดยังมีความต้องการใช้พาราไซลีนสูงอยู่ทำให้ราคาพาราไซลีนดีดตัวขึ้นอยู่ที่ตันละ 1600-1700 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ปัจจุบันส่วนต่างราคาพาราไซลีนกับวัตถุดิบ (สเปรด)อยู่ที่700 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2553 สเปรดอยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยคาดการณ์ทิศทางราคาอะโรเมติกส์จะดีต่อเนื่องไปอีก 1-2ปีนี้ ส่วนโอเลฟินส์มีแนวโน้มสดใสใน2-3 ปีข้างหน้า

นายวีรศักดิ์ โฆษิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อให้การดำเนินการควบรวมกิจการราบรื่น โดยผู้บริหารทั้ง 2บริษัทได้มีการพบกับบริษัทจัดทำอันดับเรตติ้งทั้ง มูดี้ส์S&P และฟิทช์ เรตติ้ง พบว่ามีการจัดอันดับดีขึ้น โดยมูดี้ส์ให้เครดิตเรตติ้งบริษัทใหม่จากการควบรวม Baa2 ทางS&P จัดอันดับเครดิตบริษัทใหม่ BBB และฟิทช์ A+

ทำให้มั่นใจว่าเจ้าหนี้การเงินและเจ้าหนี้หุ้นกู้ไม่น่าจะคัดค้านการควบรวมกิจการครั้งนี้ แต่หากมีการคัดค้าน บริษัทฯก็พร้อมที่จะชำระหนี้คืน

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ไตรมาสแรกปีนี้บริษัทฯคาดว่าจะมีรายได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (สเปรด)ของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์มีความผันผวน
และไม่ได้รับอานิสงส์จากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น และปริมาณกำลังการผลิตโอเลฟินส์ใหม่เดินเครื่องเต็มที่ทำให้โอเวอร์ซัปพลาย คาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปีกำลังการผลิตจะใกล้เคียงความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น