ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.ลดลง 3.43% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หลังการผลิต Hard Disk Drive และการกลั่นน้ำมันชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการปิดโรงกลั่นซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี ส่วนการผลิตกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัว แต่เตือนให้ระวังปัญหาสึนามิญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อดัชนีอุตสาหกรรมในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
วันนี้ (29 มี.ค.) นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ลดลง 3.43% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.10% อุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการลดลงของ MPI ที่สำคัญ ได้แก่ การผลิต Hard Disk Drive การกลั่นน้ำมัน ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมอาหาร ยังขยายตัวได้ดี ส่วนปัจจัยแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นประกอบกับถูกคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม เมื่อกลางเดือนมีนาคมจะส่งผลต่อ MPI ในอีก 2 เดือนข้างหน้า
นางสุทธินีย์ กล่าวว่า การผลิต Hard Disk Drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตและจำหน่าย ลดลงใกล้เคียงกัน 11.6% และ 10.0% ตามลำดับ เนื่องจากปีก่อนตลาด Hard Disk ขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ จากการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก รวมถึงผลของการปรับปรุงระบบและการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ การกลั่นปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง 22.3% และ11.2% ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการปิดโรงกลั่นเพื่อซ่อมบำรุงเครื่องจักรประจำปี การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายโทรทัศน์รวมทั้งจอ CRT, LCD และ PLASMA การผลิตและการจำหน่ายลดลง 29.4% และ 22.6% ตามลำดับ เนื่องจากตลาดในประเทศลดลง 34.5% ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น 6.5% การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง 3.9% และ 6.8% เนื่องจากวัตถุดิบราคาสูงขึ้น และมีบางส่วนย้านฐานการผลิตไปต่างประเทศ
ขณะที่ การผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่าย เพิ่มขึ้น 9.5% และ 9.9% ยังคงขยายตัวอย่างเนื่องจากรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800 cc. โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก เนื่องจากประหยัดพลังงาน ประกอบกับมีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จากปัจจัยราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลต่อยอดการจำหน่ายรถกะบะขนาด 1 ตัน เพิ่มขึ้น
สำหรับการผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย เพิ่มขึ้น 25.1% และ 24.9% เนื่องจากสาเหตุหลักมาจากภาวะโลกร้อนเป็นผลให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคโดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และยุโรปอย่างต่อเนื่องชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้น 14.4% และ 13.7% ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และมีผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่ตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการมากขึ้น โดยทั้งนี้ ทาง SIA (Semiconductor Industry Association) ได้รายงานยอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 1.5% และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14% เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการเติบโตอย่างมั่นคงที่มาจากความต้องการในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ขณะที่สินค้าที่ใช้อยู่ทุกวันมีความสามารถมากขึ้น เร็วขึ้นและมีราคาถูกลง
ส่วนอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายลดลง 6.8% และ 4.2% ตามลำดับ เนื่องจากอากาศแปรปรวนและน้ำท่วมทำให้มีปริมาณกุ้งน้อยมีกว่าก่อนโดยตลาดส่งออกยังมีความต้องการต่อเนื่อง ในขณะที่สินค้าประเภทปลาทูน่ากระป๋อง และปลาซาร์ดีนกระป๋อง ภาวะการผลิตและการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.7% และ 5.1% เนื่องจากมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างสม่ำเสมอปริมาณปลายังมีมากเพียงพอกับความต้องการ และราคาปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะปลาซาร์ดีนกระป๋องตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและการส่งออก เป็นผลมาจากผู้ประกอบการได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้า
นางสุทธินีย์ สรุปภาพรวม MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 176.94 ลดลง 3.43% จากระดับ 183.23 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 182.85 ลดลง 0.98% จากระดับ 181.08 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 115.32 ลดลง -1.44% จากระดับ 117.00 ขณะที่ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 151.16 เพิ่มขึ้น 6.38% จากระดับ 142.09 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 185.58 เพิ่มขึ้น 1.09% จากระดับ 183.58 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.10%