xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมัน-อาหารพุ่งดันเงินเฟ้อทะลุ 3% ยันการปรับขึ้น ดบ.ไม่ใช่ปัจจัยหลักดึงทุน ตปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ เผยเหตุราคาน้ำมันและอาหารที่พุ่งสูง ส่งผลอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 หลุดกรอบประมาณการทะลุ 3% แถมผสมโรงปัจจัยจิตวิทยารับรู้ล่วงหน้าของผู้ประกอบการ-ผู้บริโภค ยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักดึงทุนต่างประเทศ แนะรัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลยกระดับการแข่งขันของไทย

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของ ธปท.ล่าสุด พบว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังก่อตัวจากหลายสาเหตุ ทำให้มีความเป็นไปสูงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะมากกว่า 3% หรือหลุดกรอบนโยบายการเงิน ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และกว่าจะส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยสู่ระบบเศรษฐกิจให้เต็มที่จะต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 ไตรมาส ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินจำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาด้านต่างๆ ที่จะตามมา

“นโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับการโยนก่อนอิฐลงไปในน้ำให้เกิดแรงกระเพื่อม จำเป็นต้องค่อยๆ ทำทีละนิด ซึ่ง ธปท.เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปีก่อนและมองว่าหากไม่รีบดำเนินการอาจเกิดเรื่องเลวร้ายมากกว่าหากไม่รีบทำอะไรเลย” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวและว่า แม้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้มองว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่า 3% แต่การพิจารณากรอบนโยบายการเงินใหม่ในปี 55 ซึ่งจะพิจารณาในช่วงเดือนธ.ค.นี้ก็ไม่ควรขยับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้สูงกว่า 0.5-3% ถือเป็นกรอบนโยบายการเงินที่ใช้ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท.ได้พิจารณาหลายแนวทางทั้งการใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเช่นกัน เพื่อเป็นการพิจารณาให้รอบด้านมากขึ้น

ปัดขึ้นดอกเบี้ยดึงเงินทุนไหลเข้า

ทั้งนี้ ธปท.มองว่า ไม่ควรใช้อัตราดอกเบี้ยมาดูแลเงินทุนไหลเข้าออก เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวและเครื่องมือที่สำคัญในการดูแลอัตราเงินเฟ้อ และในทางกลับกันหากนำเครื่องมือหนึ่งมาใช้หลายวัตถุประสงค์ อาจทำให้ผลที่ได้รับไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร พร้อมทั้งอาจสร้างความสับสนต่อไปด้วย ขณะเดียวกันปัจจุบันมีการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนยืดหยุ่น ถือเป็นนโยบายที่สำคัญ

นอกจากนี้ ธปท.ยังสามารถใช้เครื่องมืออื่นๆ อาทิ การผ่อนคลายเกณฑ์ให้เงินทุนไหลออกได้สะดวกขึ้น การเข้าไปซื้อขายในตลาดเงินบาท กฎระเบียบในการดูแลสถาบันการเงิน เป็นต้น

“เราจะใช้อัตราดอกเบี้ยในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา และเราไม่ได้ตั้งใจให้ดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย และมองว่าขณะนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยก็ไม่ได้สูงมาก โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย 2.50%ต่อปี ถือว่าต่ำเป็นอันดับ 2 ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศไต้หวันเท่านั้น จึงไม่ได้มีผลต่อเงินทุนไหลเข้า และจากการศึกษา พบว่าเงินทุนไหลเข้ามามากเกิดจากศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจและความต้องการของผู้ลงทุนต่างประเทศมากกว่า ซึ่งขณะนี้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น”

ญี่ปุ่นยังไม่เป็นอุปสรรค ศก.ไทย

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ระดับราคาน้ำมันในขณะนี้ยังไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และแม้ว่าจะเกิดปัญหาภัยพิบัติญี่ปุ่น และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 3-5% เพราะ ธปท.ได้ประเมินตัวเลขช่วงค่อนข้างกว้าง เพื่อรองรับผลกระทบต่างๆ ไว้แล้ว

โดยแม้ขณะนี้เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง จนมีผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงวิกฤตก่อนและราคาค่อยๆ ปรับตัวขึ้น ขณะเดียวกันตลาดได้มีการเตรียมตัวไว้บ้างแล้ว รวมถึงยังมีแหล่งผลิตน้ำมันจากส่วนอื่นด้วย และโครงสร้างการผลิตหรือการพึ่งพาราคาน้ำมันต่างกับในอดีต คือ โลกและประเทศไทยมีการพึ่งพาน้ำมันลดลงทำให้แรงกดดันส่วนนี้ไม่ได้มีผลมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากราคาน้ำมันดิบดูไบสูงกว่า 130 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งอาจมีผลต่อมูลค่าการนำเข้าสูงขึ้น และอาจมีโอกาสเกิดการขาดดุลการชำระเงินได้ จากเดิมที่คาดการณ์ปีนี้ดุลการค้าและดุลการชำระเงินจะเกินดุล และจากการประเมินอัตราเงินเฟ้อมาจาก 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ภาวะด้านอุปทานจากราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.ภาวะอุปสงค์ที่มาจากการฟื้นตัวอุปโภคบริโภคทั้งที่เกิดจากภายในและภายนอกประเทศ 3.สภาพคล่องตลาดการเงินทั้งในส่วนของไทยและโลกที่มีค่อนข้างสูงที่จะเพิ่มแรงกดดันได้ในระดับหนึ่ง และ 4.คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นของผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับและเป็นปัจจัยสำคัญที่หากปล่อยไว้อาจมีผลย้อนกลับจนอาจแก้ไขได้ยาก

แนะรัฐบาลลดภาษีนิติบุคคล

สำหรับกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแผนจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และลดภาษีนิติบุคคลในอนาคตนั้น ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงมองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะช่วยส่งเสริมประสิทธิการผลิต (Productivity) ด้วย ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีของประเทศ ส่วนการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันไทยมีอัตราการเก็บสูงกว่าในหลายประเทศภูมิภาคเอเชียทำให้ไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงมองว่า ควรขยายฐานและลดอัตราการจัดเก็บ แต่ก็ไม่ควรหย่อนการจัดเก็บรายได้ให้ต่ำกว่าในอดีตที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น