ส.อ.ท.เผยผลสำรวจดัชนีอุตสาหกรรมเดือน ก.พ.พบปรับตัวลดลงเหลือ 108.2 จาก 112.7 ในเดือน ม.ค.ซึ่งเป็นผลจากความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิต จากสาเหตุน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยขึ้นสูง แต่คาด 3 เดือนหน้าจะดีขึ้น
วันนี้ (17 มี.ค.) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,023 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรม ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 108.2 จากระดับ 112.7 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นครั้งแรกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
สำหรับค่าดัชนีที่ปรับลดลงนั้น เกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างแรงงาน ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร ที่เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ขณะที่ปัญหาการประท้วงรัฐบาลของประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ก็ยังคงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่น คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 118.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 116.3 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมรองเท้า, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมสมุนไพร, อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, อุตสาหกรรมก๊าซ, อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ส่วนสภาวะแวดลอมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สถานการณ์ทางการเมือง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราแลกเปลี่ยน และสภาวะเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในทุกปัจจัย
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน ว่า ภาครัฐควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน พร้อมการลดขั้นตอนและข้อจำกัดของกฎหมาย อาทิเช่น ลดขั้นตอนในเอกสารส่งออก และเพิ่มจุดบริการในเขตต่างจังหวัด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้ภาครัฐมีการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ด้านต้นทุนวัตถุดิบอีกด้วย