xs
xsm
sm
md
lg

บี้ประกันภัยแปลงมหาชน บีบคายหุ้นใหญ่ทางอ้อม-เปิดช่องต่างชาติแจม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบอินเทอร์เน็ต
บริษัทประกันเจอกฎเหล็ก บี้แปลงสภาพเป็นมหาชน เปิดช่องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นระดับบิ๊ก 39 บริษัทประกัน จ่อถูกบีบแปลงสภาพ จำใจรับต่างชาติกระเป๋าหนักร่วมธุรกิจ-ควบรวมกิจการบริษัทอื่น “กรุงเทพประกันภัย” เชื่อบังคับทางอ้อมให้คายหุ้นใหญ่ หรือจำใจให้ขายต่างชาติ โอดอนาคตบริษัทเล็กรอดยาก หากเปิดเสรีพิกัดเบี้ยสู้บริษัทใหญ่ไม่ไหว “ไทยศรีประกันภัย” มองควบรวมกิจการได้ผลประโยชน์แ่ค่ภาษี

วันนี้ (10 มี.ค.) กรณี พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2551 ระบุให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน (บมจ.) ภายในปี 2556 หากไม่ทันขยายเวลาให้อีก 3 ปี ถึงปี 2559 แต่ช่วงต่อเวลาบริษัทประกันภัยไม่สามารถขยายธุรกิจได้ โดยกฎหมายกำหนดให้แค่แปลงเป็นบริษัทมหาชนไม่ได้บังคับให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจประกันภัย และมองกันว่า การแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนเป็นช่องที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทนั้นๆ โดยขณะนี้มีบริษัทประกันวินาศภัย 39 บริษัท จากทั้งหมด 69 บริษัทที่ต้องแปลงสภาพ

ด้าน นายพุทธิพงษ์ ด่านบุญสุต ประธานคณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ สมาคมประกันวินาศภัย กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า เมื่อต้องแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ทำให้บริษัทประกันภัยที่มีครอบครัวถือหุ้นจำเป็นต้องเปิดกว้างรับผู้ถือหุ้นบุคคลภายนอกเข้ามา ให้ได้ตามที่กฎหมายมหาชนกำหนด ยิ่งถ้าเป็นบริษัทประกันภัยที่มีฐานะการเงินก้ำกึ่งกับการอยู่รอดต่อไปเมื่อต้องเจอกับกฎใหม่ๆ โดยเฉพาะเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ซึ่งต้องเพิ่มทุนรองรับอีก ทำให้ไม่มีทางเลือกมากเหมือนอดีตบีบให้ต้องเปิดรับผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามา

“บริษัทประกันภัยส่วนมากมีอายุเก่าแก่ 40-60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวมากกว่า ไม่ได้ให้บุคคลภายนอกเข้ามาถือหุ้น ขณะที่หลายบริษัทเปลี่ยนมือบริหารจากเจนเนอเรชันพ่อไปสู่ลูก บวกกับการเปลี่ยนแปลง ของโลกรองรับการเปิดเสรีในอนาคตยิ่งเป็นโอกาสทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงบริษัทประกันภัยที่ก้ำกึ่งกับการอยู่รอดจะใช้การแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นจากบริษัทครอบครัวเป็นกิจการเพื่อประโยชน์ของมหาชน ซึ่งการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะมีอยู่ 2 โมเดล คือ เชิญต่างชาติที่มีทุนหนาเข้ามาถือหุ้น และควบรวมกิจการกับบริษัทประกันภัยอื่นจะทำไปพร้อมกับการแปลงสภาพเป็นมหาชน”

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า การควบรวมกิจการคือการเอาส่วนของครอบครัวขายให้กับบริษัทประกันภัยอื่นได้บริษัทใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ยึดหลัก Synergy คือ แง่ต้นทุนควบรวมแล้ว 1+1 ต้องน้อยกว่า 2 แง่รายได้ต้องมากกว่า 2 อีกทั้งยังทำให้มีผู้ถือหุ้นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น และเมื่อครอบครัวต้องถือหุ้น น้อยลงเป็นช่องทางให้ทุนต่างชาติเข้ามาถือครองหุ้นได้อีกเช่นกัน ทั้ง 2 วิธีเป็นทางรอดของบริษัทขนาดกลาง ขนาด เล็กโดยอาศัยช่วงการแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อถึงกรณีโมเดลไหนจะมีโอกาสเกิดมากกว่ากันว่า มีโอกาสพอๆ กัน โดยบริษัทประกันภัยที่ก้ำกึ่งจะอยู่รอดหรือไม่รอดแสวงหาทั้ง 2 โมเดล การควบรวมกิจการไม่ยากพอๆ กับต่างชาติเข้ามา ซึ่งการให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นจะมีข้อจำกัดมากกว่ากฎหมายอนุญาตให้ไม่เกิน 49% ซึ่งต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) หากเกิน 49% ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ในส่วนของการควบรวมกิจการ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่มากเล็งบริษัทขนาดเล็กอยู่การเล็งไม่ได้มองพอร์ตเบี้ยประกันภัยเหมือนก่อน เพราะถูกแย่งซื้อได้ง่ายจาก การผ่องถ่ายข้อมูลหรือมีเทคโนโลยีด้านบริการที่เอื้อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วกับลูกค้าทำให้ลูกค้าเข้ามาหาเอง แต่เล็งสินทรัพย์มากกว่าบางบริษัท มีสาขา ศูนย์บริการหรือมีที่ดินมูลค่ามากสามารถต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคตทำให้เกิดมูลค่าในการควบรวมกิจการกันมากกว่า กฎ RBC และกฎเกณฑ์ใหม่ๆ จะเร่งรัดให้บริษัทต้องพิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการหรือเปิดรับทุนต่างชาติมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งขณะนี้ในตลาดมีการพิจารณาควบรวมกิจการกันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 โมเดลเป็นทางออกที่เหมาะสมของบริษัทประกันภัยไทย ส่วนบริษัทประกันภัยต่างชาติเมื่อถึงเวลาต้องแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน คงไม่เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นจะมีการ เตรียมตัวตั้งนิติบุคคลสัญชาติไทยขึ้นมา ถือหุ้นมากขึ้น ต่างชาติมีความสามารถ ดูแลตัวเองได้อยู่แล้วคงให้คนไทยมาถือหุ้นเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ต่างชาติเข้ามาเต็มตลาด ดิวผ่านทางที่ปรึกษาการเงินเข้ามาพูดคุยกันอยู่ไม่เป็นที่เปิดเผย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทมาจากจีน ญี่ปุ่น จากยุโรปมีน้อย เพราะเอเชียด้วยกันเข้าใจวัฒนธรรมกัน มากกว่าตลาดไทยอยู่ในช่วงมีโอกาสทางธุรกิจเป็นตลาดใหม่ อีกทั้งแผนพัฒนาธุรกิจฉบับที่ 2 มีศักยภาพมากตั้งเป้าหมายเบี้ยต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 6% แสดงว่า รัฐบาลสนับสนุนจูงใจต่างชาติเพราะมีโอกาสสร้างการเติบโต”

ขณะที่ นายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เกณฑ์ RBC น่าจะเป็นตัวบีบให้บริษัทประกันภัยต้องควบรวมกิจการหรือขาย หุ้นให้กับต่างชาติมากกว่าเพราะบีบให้ต้องเพิ่มทุนมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มขึ้นมากหากไม่มีทุนก็ต้องหาคนไทย หรือต่างชาติเข้ามาถือหุ้น เกณฑ์ RBC บีบทาอ้อมให้ต้องควบรวมหรือขายให้ต่างชาติ อีกทั้งในอนาคตจะมีการเปิดเสรีอย่างพิกัดเบี้ย บริษัทขนาดเล็กต้องหาวิธีให้ไซส์ใหญ่ขึ้นเพื่อแข่งขันกับบริษัทใหญ่

ส่วน นายนที พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า การเป็นบริษัทมหาชนเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อยส่วนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นเพื่อการระดมทุนให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น ผู้ถือหุ้นขายหุ้นบางส่วนออกไปทำให้การถือครองหุ้นน้อยลง ซึ่งการควบรวมกิจการกันเพื่อให้ไซส์ใหญ่ขึ้น ลดต้นทุนซ้ำซ้อน กำไรรวมกันแล้วเพิ่มขึ้น อีกจุดประสงค์หนึ่ง คือ ไม่สามารถเพิ่มทุนได้ แต่การควบรวมกิจการจะเห็นมากเมื่อมีผลประโยชน์ด้านภาษีเข้ามาช่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น