xs
xsm
sm
md
lg

หวังส่งออกไทยขยายตัว 17% “ชิ้นส่วนรถ-สินค้าเกษตร-เครื่องใช้ไฟฟ้า” ดันยอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบอินเทอร์เน็ต
“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” เชื่อ ศก.ประเทศคู่ค้า-บาทอ่อนตัว หนุนส่งออกไทยไตรมาสแรกสดใส โดยมีโอกาสขยายตัวสูงถึง 17% แม้บางเดือนตัวเลขส่งออกชะลอตัว แต่ปี 54 คาดขยายตัวเป็นบวก ตั้งเป้าอยู่ที่ระดับ 8-12% สำหรับส่งออก ส่วนนำเข้าน่าจะโต 12-17% และเกินดุลการค้าประมาณ 4,700-8,200 ล้านดอลลาร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าเกษตร อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปิโตรเคมี จะช่วยขับเคลื่อนตัวเลขส่งออก

วันนี้ (23 ก.พ.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทช่วงนี้ ว่า น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 1/54 ขยายตัวสูงที่ประมาณ 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อาจมีบางเดือนที่การส่งออกชะลอตัวลงเป็นตัวเลขหลักเดียว โดยภาพรวมการส่งออกทั้งปี 54 จะยังขยายตัวเป็นบวกได้ โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะยังเติบโตได้ในระดับ 8-12% ตามที่คาดการณ์ไว้เดิม แต่ปรับเพิ่มการนำเข้าเป็นโต 12-17% และเกินดุลการค้าราว 4,700-8,200 ล้านดอลลาร์ฯ โดยสินค้าสำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกปีนี้ คือ รถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตร อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี

ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ภาวะราคาสินค้าที่พุ่งสูง ซึ่งราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะความกังวลต่ออุปทานน้ำมันที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งล่าสุดได้ส่งผลให้การผลิตน้ำมันในลิเบียได้รับผลกระทบ

“สถานการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมายดังกล่าว เมื่อประกอบกับการปรับขึ้นค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ล้วนแต่มีผลต่อต้นทุนของผู้ส่งออก ในขณะที่ผู้ส่งออกไทยมีอำนาจในการเจรจาต่อรองปรับราคาได้ค่อนข้างจำกัด ทำให้อัตรากำไรหรือมาร์จินอาจลดลง”

นอกจากนี้ แนวโน้มแรงกดดันเงินเฟ้อที่มีเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงจะกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ยังมีผลต่อทิศทางนโยบายการเงินของชาติต่างๆ ที่อาจเป็นไปในลักษณะที่คุมเข้มกว่าที่คาดได้หากเงินเฟ้อพุ่งแรงเกินไป ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อความสามารถในการกู้ของภาคครัวเรือน และมีผลไปถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้ชะลอตัว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น