"เด็มโก้" แจ้งข่าวดี 4 ก.พ.นี้ จ่อย้ายจากตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทน โดยขณะนี้มีทุนจดทะเบียนกว่า635.46 ล้าน เป็นทุนชำระแล้ว 435.46 ล้านบาท ทั้งนี้ ความต้องการย้ายไปเทรดกระดานใหญ่ เนื่องจากอยากระดมทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต
วันนี้ (2 ก.พ.) นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ผู้นำธุรกิจด้านงานก่อสร้างสถานีไฟฟ้า รวมถึงผลิตและจำหน่ายเสา โครงเหล็กสำหรับงานด้านไฟฟ้า โทรคมนาคมให้กับภาครัฐและเอกชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป บมจ.เด็มโก้ จะย้ายจากตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ไปเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หลังจากที่บริษัทฯ มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยฐานะการเงิน ณ ไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 2,189.22 ล้านบาท ขณะที่ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 635 . 46 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 435.46 ล้านบาท
ทั้งนี้ บมจ.เด็มโก้ เชื่อว่า หลังจากที่ย้ายเข้าไปจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว จะช่วยดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน เช่น กองทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในหุ้น DEMCO มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติอยู่ในระดับ 6-7% ขณะเดียวกัน เชื่อว่า การเข้าย้ายไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจะช่วยสนับสนุนให้สภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น DEMCO เพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ศิริคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า การเข้าจดทะเบียนและซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเอื้ออำนวยกับการระดมทุนของบริษัทฯ ในอนาคตมากขึ้น เนื่องจาก DEMCO มีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทนทำให้อาจจะมีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเสนอราคาในฐานะผู้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 60.9 เมกกะวัตต์ มูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท
ขณะที่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งได้รับใบอนุญาตแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 โดยโครงการห้วยบงที่เป็นโปรเจ็กต์แรกในจังหวัดนครราชสีมา มูลค่ารวม 2.60 พันล้านบาท จะเริ่มดำเนินการในไตรมาสนี้ ขณะที่โครงการเขาค้อ มูลค่า 900 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มกลางปี
"ธุรกิจของ DEMCO ยังคงมีโอกาสขยายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพในธุรกิจพลังงานทดแทน รวมถึงงานรับเหมาโครงการ งานขายและงานบริการ ซึ่งบริษัทฯ มีงานในมือ ( Backlog ) มูลค่าราว 5.20 พันล้านบาท โดยสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3.50 พันล้านบาทจะทยอยรับรู้รายได้ประมาณ 60-70% ในปีนี้ ขณะที่โครงการสถานีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าประมาณ 0.8 พันล้านบาท จะเข้ามาเสริมรายรับของธุรกิจ รวมทั้งโครงการ 3G ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็น่าจะช่วยทำให้ยอดขายเสาของบริษัทฯ ที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 20% ปรับตัวดีขึ้นด้วย"นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว