“เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์” รวยอื้อ!! ปั่นหุ้นจนป่วน ส่งผลพอร์ตลงทุนบานเบอะ ยอดสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท กินเวลา 5 ปี ฟันปันผลก้อนโตให้สิงคโปร์ 7 หมื่นล้านบาท โดยสูบผ่าน “ชินคอร์ป” ถึง 6.2 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (24 ม.ค.) ภายหลังจาก “เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์” บรรษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ออกมาประกาศขายหุ้นที่ถืออยู่ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 42.67 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 1,248.09 ล้านบาท ได้สร้างความปั่นป่วนให้แก่หุ้นตัวอื่นในพอร์ตการลงทุนของเทมาเส็ก ซึ่งถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย
โดยจากการสำรวจพอร์ตลงทุนในตลาดหุ้นไทย พบว่า จนถึงวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา เทมาเส็กมีการลงทุนใน 18 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 273,251.66 ล้านบาท ลดลงจากปี 2549 ซึ่งมีมูลค่าเงินทุน 306,709.02 ล้านบาท โดยปีดังกล่าวเป็นปีที่เทมาเส็กได้มีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมมูลค่าเงินลงทุนใน บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ป และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส มูลค่ารวม 28,165.44 ล้านบาท พบว่ามูลค่าพอร์ตของเทมาเส็กเพิ่มขึ้น 5,438.05 ล้านบาท คิดเป็น 24 % จากมูลค่าลงทุนปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 22,727.39 ล้านบาท
ด้านผลตอบแทนจากเงินปันผล ที่เทมาเส็กรับไปจากการลงทุนใน 18 บริษัท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2549-2553) มีจำนวนรวม 71,490.58 ล้านบาท โดยเป็นเงินปันผลรับจากชินคอร์ป และไอเอเอส มากที่สุด มีมูลค่ารวม 62,445.69 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า แม้เทมาเส็กจะยังขาดทุนจากส่วนต่างราคาจากการลงทุนในหุ้นชินคอร์ป ที่ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 151,000 ล้านบาท แต่เมื่อรวมเงินปันผลที่ได้จากบริษัทดังกล่าว พบว่าเทมาเส็กได้ทุนคืนแล้ว อีกทั้งยังมีกำไรอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท (ไม่รวมเงินลงทุนในเอไอเอส ผ่านบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือสิงเทล สัดส่วน 19.13%) นอกจากนี้ยังมีกำไรจากส่วนต่างราคาจากการลงทุนเชิงกลุยทธ์ใน 16 บริษัท ในอัตรา 24%
ส่วนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เทมาเส็กลงทุน 18 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.บ้านปู มูลค่าเงินลงทุน 1,933.53 ล้านบาท 2.ธนาคารกรุงเทพ มูลค่า 2,683.20 ล้านบาท 3.บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) มูลค่า 353.45 ล้านบาท 4.บมจ.ซีพี ออลล์ มูลค่า 3,641.94 ล้านบาท 5.บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค 120.30 ล้านบาท 6.บมจ.โกลว์ พลังงาน 298.42 ล้านบาท
7.บมจ.อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 104.53 ล้านบาท 8.บมจ.ธนาคารกสิกรไทย 2,281.26 ล้านบาท 9.บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 9,577.95 ล้านบาท 10.บมจ.อสมท 487.61 ล้านบาท 11.บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง 160.66 ล้านบาท 12.บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ 2,030 ล้านบาท 13.บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ มูลค่า 3,063.18 ล้านบาท 14.บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ 341.79 ล้านบาท
15.บมจ.ไทยออยล์ มูลค่าเงินลงทุน 884.62 ล้านบาท 16.กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย 203.08 ล้านบาท 17.บมจ.ชินคอร์ป 90,764.48 ล้านบาท และ 18.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มูลค่าเงินลงทุน 154,321.74 ล้านบาท
ด้าน นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ยังไม่เคยได้รับทราบข้อมูลจากผู้ถือหุ้น คือ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยกองทุนเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะถอนหุ้นทิ้งออกจาก บมจ.ไทยคม
“ผมไม่เคยได้ยินทั้งผู้บริหารชินคอร์ป และผู้บริหารเทเมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จะยกเลิกการลงทุนในไทยคมผมว่าเรื่องนี้มีการปั่นจากนักวิเคราะห์มากกว่า และไม่เคยได้ยินด้วยว่าเทเมาเส็กจะทิ้งธุรกิจดาวเทียม ไม่รู้ว่าใครไปปล่อยข่าวเรื่องนี้”
ขณะที่ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคิน จำกัด เปิดเผยว่า จากการที่ราคาหุ้น บมจ.ไทยคม (THCOM) ปรับตัวลงค่อนข้างมากคาดว่าเกิดจากความกังวลว่าเทมาเส็กอาจจะขายหุ้นที่ถืออยู่ใน THCOM ออกไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการขายหุ้นที่ถืออยู่ใน บมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH)
ทั้งนี้ จากการที่นักลงทุนมีความกังวลว่าเทมาเส็กจะขายหุ้นที่ถืออยู่ใน THCOM ออกไปนั้น เนื่องจากวัตถุประสงค์การลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมของเทมาเส็ก ผ่าน บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ก็เพื่อต้องการลงทุนเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการทางด้านโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ส่วนธุรกิจดาวเทียมทางเทมาเส็กไม่มีความต้องการตั้งแต่เริ่มแรก ประเด็นดังกล่าวจึงมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อการลงทุนที่กังวลว่าชินคอร์ป ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะลดการลงทุนใน THCOM ลงไป
นักวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคินฯ กล่าวอีกว่า จากที่ฝ่ายวิเคราะห์ได้มีการสอบถามไปยังชินคอร์ป และTHCOM ในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณที่เป็นปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติมโดยขณะนี้ชินคอร์ปยังคงนโยบายการลงทุนใน THCOM เหมือนเดิม คือ ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 41% แต่ในแง่ปัจจัยพื้นฐานของ THCOM ยังมีประเด็นกังวลในเรื่องการตรวจสอบสัมปทาน แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเพิ่มเติมออกมา ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าสัมปทานดาวเทียมมีโอกาสที่จะต้องจ่ายค่าปรับน้อยกว่าค่าปรับในสัมปทานมือถือ
ล่าสุด สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ว่า เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ระบุว่า พร้อมจะชำระเงินค่าปรับให้กับทางการอินโดนีเซีย หลังจากศาลสูงสุดของอินโดนีเซียปฏิเสธรับคำอุทธรณ์ให้มีการทบทวนคดีทางแพ่งที่ทางทางอินโดนีเซียชี้ขาดว่าการเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน 2 บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ที่สุด 2 อันดับแรกของอินโดนีเซีย เข้าข่ายการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด
ส่วนเงินค่าปรับในกรณีดังกล่าวคิดเป็นจำนวนเงิน 15,000 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 50 ล้านบาท ในแต่ละบริษัทที่เทมาเส็กมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรวมกันอาจสูงถึง 150,000 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 510 ล้านบาท ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะมีผลกระทบจำกัดในแง่การขายหุ้นในพอร์ตการลงทุนของเทมาเส็ก