xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก2บิ๊กธนชาต3ปี4เดือน คดีทำลูกค้าเจ๊งหุ้นผิดกม.ตลาดฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลพิพากษลงโทษจำคุก "บันเทิง ตันติวิท-ศุภเดช พูนพิพัฒน์" 3 ปี 4 เดือน คดีทำลูกค้าเจ๊งหุ้นผิด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์-เงินทุนหลักทรัพย์และเครดิตฟองซิเอร์ ด้าน TCAP แถลงด่วนยื่นอุทธรณ์แน่ ยันไม่กระทบแผนควบรวม "TBANK-SCIB"

วานนี้ (25 มี.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ที่พิพากษลงโทษจำคุกนายบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ ธนาคารธนชาต (TBANK) และ นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน ในคดีฟ้องร้องของลูกค้าในอดีตสมัย บงล.ธนชาติ

นายบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP กล่าวว่า ให้ความเคารพในคำตัดสินของศาล และจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพาษาตามกฎหมายภายใน 1 เดือนนับจากวันที่ 25 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ คำพิพากษาในคดีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อธนาคารธนชาต เพราะไม่ใช่คู่ความในคดีนี้

"ผมยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ เพราะตามกฏหมายเขียนไว้ว่าคดีต้องถึงที่สุดก่อนโดยทางธนาคารได้ทำเรื่องแจ้งไปยัง ธปท.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว จึงไม่อยากให้ผู้หุ้นของธนาคารตกใจกับข่าวและขายหุ้นออกไปโดยไม่มีความเข้าใจถึงข้อเท็จจริง ในขณะที่ทางธนาคารโนวาสโกเทีย ซึ่งทางกองทุนฟื้นฟูฯได้ทราบเรื่องนี้แล้วเช่นกันและไม่มีปัญหาใดๆ ต่อการเข้าซื้อหุ้น SCIB เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล" นายบันเทิงกล่าวและว่า
กรณีนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อแผนการควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ธนาคารธนชาตเพิ่งลงนามซื้อขายหุ้นกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพราะการพิพากษาของศาลยังไม่ถึงที่สุด

นายบันเทิงกล่าวว่า ธนาคารได้ยื่นของอนุมัติไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ธนาคารธนชาตสามารถถือหุ้นในอีกธนาคารหนึ่งได้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจาก ธปท. ก่อนวันที่ 7 เม.ย.ที่จะมีการประชุมผู้ถือหุ้น โดยบริษัททุนธนชาตไม่มีความจำเป็นจะต้องเพิ่มทุน เนื่องจากบริษัทยังมีเงินทุนเพียงพอที่จะช่วยเพิ่มทุนให้กับธนาคารธนชาต จะเห็นได้ว่าบริษัททุนธนชาตมีการประกาศจ่ายเงินให้กับผู้ถือหุ้น 0.60 บาท

ส่วนธนาคารธนชาตจะมีการเพิ่มทุน 35,790 ล้านบาท เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจากกองทุนฟื้นฟูฯ และเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยบริษัททุนธนชาตต้องใช้เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารธนชาตจำนวน 18,000 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้น ส่วนทางธนาคารโนวาสโกเทีย ต้องใช้เงินจำนวน 17,000 ล้านบาท และธนาคารธนชาตจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ Hybrid Tier I จำนวน 7,130 ล้านบาทเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในวันที่ 23 เม.ย.นี้ และออกหุ้นกู้เพื่อดำรงเงินกองทุนขั้นที่ 2 อีก 6 พันล้านบาทเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยเปิดจองในวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย.

***แบงก์ชาติป้องดีลซื้อ SCIB

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายงจัดการกองทุน ธปท. และในฐานผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่น่าจะกระทบต่อการขายหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยให้กับธนาคารธนชาต เนื่องจากการซื้อขายเป็นการทำระหว่างนิติบุคคลกับนิติบุคคล และผู้บริหารทั้ง 2 คนดังกล่าวก็มีอำนาจในการทำรายการดังกล่าวอยู่ จึงไม่น่าส่งผลกระทบ

ด้านนายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์แล้ว ผู้บริหารธนาคารจะขาดคุณสมบัติจะมี 2 กรณีเท่านั้น ได้แก่ ถูกประชาชนฟ้องร้องว่าฉ้อโกง และถูกลงโทษในกรณีดังกล่าวแล้ว และอีกกรณีคือศาลตัดสินสิ้นสุดแล้วว่ามีความผิดจริง แต่ในกรณีดังกล่าวต้องรอดูก่อนว่าเข้าประเด็นดังกล่าวหรือไม่

***ย้อนรอยคดีลูกค้าสู้ไม่ถอย

การดำเนินการฟ้องร้องครั้งนี้ มีการฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญา โจทก์คือนายเกริกชัย ซอโสตถิกุล ยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อ 1 มีนาคม 2550 ศาลประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 หลังจากที่อัยการลงความเป็นสั่งฟ้องเป็นครั้งแรกว่า "ฝ่ายสถาบันการเงินเป็นฝ่ายผิดที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย"

นายเกริกชัย เป็นนักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์นันยางและซีคอนสแควร์ ยื่นฟ้องดำเนินคดีผู้บริหาร 4 คน ฐานร่วมกันกระทำความผิดหน้าที่จากการประกอบอาชีพหรือทำธุรกิจจนทำให้โจทก์ต้องเสียทรัพย์ เป็นความผิด พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 กรณีการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯเรื่องบัญชีเมนเทนแนนซ์มาร์จิ้น ส่วนการยื่นฟ้องแพ่งที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี

รายละเอียดคำฟ้องและคำพิพากษามีดังนี้ คำฟ้องระบุว่า จำเลยทั้ง 4 คือ นายบันเทิง ตันติวิท จำเลยที่ 1 นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ จำเลยที่ 2 นางสุชาดา ภวนานันท์ จำเลยที่ 3 นายอมร กิตินารถอินทราณี จำเลยที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน)) ทำความผิดโดยการไม่ดำเนินการบังคับขายหุ้นของโจทก์เมื่ออัตราเมนเทแนนซ์มาร์จิ้นลดลงถึงเกณฑ์บังคับขาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากต่อมาราคาหุ้นลดต่ำลงมาอีกทำให้โจทก์ได้รับผลขาดทุนจำนวนมาก พนักงานอัยการสั่งฟ้องบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) และนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ แต่สั่งไม่ฟ้องกรรมการทั้ง 4 โจทก์จึงมาฟ้องเองเป็นคดีนี้
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยทั้ง 4 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความาผิดตามฟ้อง เพราะในส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น บริษัทมอบหมายให้นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ กรรมการคนอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานประจำวันของกิจการในธุรกิจหลักทรัพย์

ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีความผิด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ และจะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาล เนื่องจาก
 
(ก) การกระทำในเรื่องเดียวกันตามข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยวินิจฉัยไว้ก่อนแล้วในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีและนายเกริกชัยฯ เป็นโจทก์ร่วม กล่าวหาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ จำกัด (มหาชน) และนายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ โดยศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ไม่เป็นความผิด เพราะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีนโยบายให้ผ่อนปรนการบังคับขาย และตัวลูกค้าคือนายเกริกชัยฯ ก็มีสิทธิสั่งขายหุ้นได้ตลอดเวลา จึงไม่อาจโยนความรับผิดในส่วนที่ราคาหุ้นลดต่ำลงให้กับการผ่อนปรนการบังคับขายของบริษัทได้

(ข) นอกจากนั้น ยังมีคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 5210/2549 ระหว่างนายเกริกชัย ซอโสตถิกุล โจทก์ (บุคคลเดียวกันกับโจทก์ในคดีนี้) ฟ้องบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) จำเลย ได้วินิจฉัยวางแนวไว้ในข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันนี้ด้วยว่า การผ่อนปรนการบังคับขายหุ้นในบัญชีของโจทก์ ในช่วงปี 2539-2540 ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีนโยบายผ่อนปรนการบังคับขายนั้นไม่เป็นความผิด (โดยเป็นการพิพากษายกฟ้องและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น)
กำลังโหลดความคิดเห็น