หลังจากใช้เวลาเจรจากันมานานพอสมควร ในที่สุดการซื้อหุ้นสามัญธนาคารนครหลวงไทยในสัดส่วน 47.58% ต่อจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ของธนาคารธนชาติ ก็ได้ข้อสรุป
โดยการซื้อหุ้นครั้งนี้ เป็นจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 1,005,330,950 ล้านหุ้น หรือ 47.58 % ซึ่งธนาคารธนชาตจะใช้เงินซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยจากกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท ในราคา 32.50 บาทต่อหุ้น
เมื่อเทียบกับงบการเงินกองทุนฟื้นฟูฯล่าสุด ราคาตามบัญชีอยู่ที่ 19 บาทต่อหุ้น ทำให้การขายครั้งนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูมีส่วนเกินจากมูลค่าหุ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งราคาหุ้นดังกล่าวได้รวมเงินปันผลที่คาดว่าจะได้เรียบร้อยแล้วและกองทุนฟื้นฟูฯ จะได้รับเงินด้วยแคชเชียร์เช็คและนัดโอนหุ้นในวันที่ 9 เม.ย.นี้
การเจรจาซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ สามารถสรุปได้ชัดเจนเมื่อเช้าของวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารนครหลวงไทยจะต้องมีการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต จึงเหลือเพียงธนาคารธนชาตรายเดียว ซึ่งคาดว่าจะโอนกิจการธนาคารนครหลวงไทยไปยังธนาคารธนชาตแล้วเสร็จสิ้นไม่เกินสิ้นปี 54
การควบรวมกิจการระหว่างกัน จะใช้วิธีการโอนสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารนครหลวงไทย มารวมกับธนาคารธนชาต เมื่อเรียบร้อยแล้วจะเลิกกิจการธนาคารนครหลวงไทย และเอาหุ้นออกมาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากนั้นจะเหลือธนาคารธนชาตธนาคารเดียว"คำกล่าวยืนยันจากกลุ่มธนชาต
สิ่งที่น่าติดตามต่อไปจากการควบรวมกิจการในครั้งนี้ คือ บริษัทย่อยของแต่ละแห่ง ซึ่งดำเนินธุรกิจคล้ายคลึ่งกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านประกัน ธุรกิจซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงธุรกิจจัดการกองทุนด้วย
ปัจจุบัน บลจ.ธนชาต ถือเป็นบลจ.หนึ่งที่มีผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนให้บริการนักลงทุนค่อนข้างหลากหลาย เช่นเดียวกับ บลจ.นครหลวงไทย ที่กำลังสร้างตัวเองขึ้นมา เพื่อกระโดดเข้ามาแข่งในตลาดกองทุนอย่างเต็มตัว ซึ่งที่ผ่านมา ก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จภายใต้การนำของ "ธีระพันธุ์ จิตตาลาน" ที่เพิ่งก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้เดินเครื่องบลจ. นครหลวงไทยได้ไม่นาน
การควบรวมที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าคงต้องมีการพูดถึง การควบรวมกิจการด้านการลงทุนด้วย เพราะคงไม่มีความจำเป็นที่แบงก์ จะมีบริษัทจัดการกองทุนถึง 2 แห่ง เช่นเดียวกับเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ควบรวม บลจ.พรีมาเวสท์ เข้ากับ บลจ.อยุธยา ไปแล้วก่อนหน้านี้
ปัจจุบัน บลจ.ธนชาต มีธนาคารธนชาต เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในสัดส่วน 74.99% โดยมีออมสินเป็นผู้ถือหุ้นอีก 25% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 0.01%
ในขณะที่บลจ.นครหลวงไทย ในช่วงแรกมีธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทั้งหมด 100% ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2548 บลจ. นครหลวงไทยได้จดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 170 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนอีกครั้งเป็น 300 ล้านบาท โดยธนาคารนครหลวงไทยยังเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 60% และได้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เข้ามาเป็นถือหุ้นในสัดส่วน 40%
...เราได้สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารทั้ง 2 บลจ. ต่อการควบรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แห่งในครั้งนี้
บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ บลจ. เองยังไม่มีคำสั่งอะไรเกิดขึ้น เพราะทุกอย่างยังคงต้องดูถึงเรื่องนโยบายของผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 ธนาคารเป็นสำคัญ
แต่เมื่อมีการคำสั่งอะไรเกิดขึ้น คงมีการดำเนินการในเรื่องของทางธนาคารไปก่อน ส่วนในด้านของเครือลูก ๆ ของแบงก์ ยังคงต้องรอดูคำสั่งอีกทีหนึ่ง ซึ๋งในขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเราเองก็ยังคงทำงานไปตามปกติ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น ณ ตอนนี้
"ถ้ามีคำสั่งอะไรออกมา คงเป็นทางแบงก์ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ส่วนด้านบลจ. เองก็ยังคงทำงานไปตามเดิมกันก่อน เพราะต้องรอดูคำสั่งของผู้ถือหุ้นอีกทีหนึ่ง ของทั้ง 2 แบงก์ เนื่องจากว่าข่าวการควบรวมของทั้ง 2 แบงก์เพิ่งออกมได้ไม่กี่วัน ดังนั้นยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้"
ขณะที่ ธีรพันธ์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บลจ. นครหลวงไทย จำกัด กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในส่วนของทางบลจ.เองนั้น ยังไมได้รับคำสั่งจากทางบอรด์ธนาคารนครหลวงไทยในเรื่องการควบรวม และเรื่องอื่นๆ โดยทางบริษัทก็ยังดำเนินธุรกิจตามปกติ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงทางบลจ.จะมีการแจ้งให้ทราบเป็นระยะ
สำรวจAUMก่อนการควบรวม
จากข้อมูลมูลค่าอุตสหกรรมกองทุนรวมของสมาคมบลจ. หรือ AIMC ณ วันที่ 5 มีนาคม 2553 พบว่า บลจ.ธนชาต มีมูลค่า AUM ทั้งสิ้น 77,930,831,445.07 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแชร์ในอุตสหกรรมประมาณ 4.31%
ขณะที่บลจ.นครหลวงไทย มีมูลค่า AUM อยู่ที่ 38,171,541,064.97 บาท และมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 2.11% ...ซึ่งหากเรานำAUM ของทั้ง 2บลจ.มารวมกันจะมีสินทรัพย์รวมมากถึง 116,102,372,510.04 บาทอยู่ในอันดับที่ 7 ของอุตสหกรรมธุรกิจกองทุนรวม
ทั้งนี้ ทั้ง 2 บลจ. ยังมีเงินลงทุนในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลอยู่ด้วย โดย บลจ. ธนชาต มีเงินลงทุนรวม 8,212.71 ล้านบาท ในขณะที่ บลจ.นครหลวงไทย บริหารเงินอยู่ประมาณ 4,019.99 ล้านบาท ส่วนธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเพียงบลจ.ธนชาตเท่านั้น ที่มีสินทรัพย์อยู่ในพอร์ตประมาณ 4,485.52 ล้านบาท