xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อพรบ.เงินกู้กฤษฎีกาโยนศาลรธน.ตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวดีคนออมเงิน ผู้สูงวัยได้เฮ ครม.อนุมัติคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์ 100,000 ล้าน อายุ 6 ปี อัตราดอกเบี้ยขั้นบันไดเฉลี่ย 4% ชดเชยภาษี 15% เปิดขาย 29 มี.ค. ครม.คุมเข้มงบไทยเข้มแข็ง โครงการล่าช้าโดนตัด ขณะที่ พ.ร.บ.กู้เงินยื้อต่อ กฤษฎีกาโยนให้ศาล รธน.ตีความ

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงวานนี้ (16 ก.พ.) ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกระทรวงการคลังออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 100,000 ล้านบาท อายุ 6 ปี เปิดขาย 29 มี.ค.-2 เม.ย.53 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได และชดเชยภาษีไม่เกิน 15% โดยจะให้สิทธิผู้สูงอายุจองซื้อก่อนในวันที่ 29-30 มี.ค.ขั้นต่ำ 1 หมื่นบาทถึง 1 ล้านบาท จากนั้นในวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย.จะให้เปิดบุคคลทั่วไปจองซื้อ พร้อมเปิดทางให้ขายคืนพันธบัตรก่อนครบกำหนดได้ที่ธนาคารพาณิชย์เมื่อครบ 6 เดือน หรือสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นเมื่ออายุครบ 6 เดือนขึ้นไป

"พันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ เพื่อชำระหนี้พันธบัตรออมทรัพย์รอบแรก ที่ออกในปี 2552-2553 ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2554-2555" รองโฆษกฯ กล่าว

นายจักรกฤษฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์งวดใหม่เฉลี่ย 4% ต่อปี สูงกว่าผลตอบแทนในตลาด โดยเบื้องต้นจะเปิดจำหน่ายผ่านธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ซึ่งภาครัฐจะนำเงินที่ได้มาใช้ในการรีไฟแนนซ์เงินกู้ในโครงการไทยเข้มแข็งรอบแรก

ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามความเห็นคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ กำหนดมาตรการเร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงินงวดแรก 199,960 ล้านบาท ดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับระยะเวลาตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

"หน่วยงานที่ยังไม่ได้เสนอขอจัดสรร ให้เร่งดำเนินการจัดส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรเงินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 กรณีหน่วยงานได้รับการจัดสรรเงินแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญา ให้เร่งดำเนินการ ลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 1 และ 2 ให้ยุติโครงการ เพื่อสามารถนำเงินจากโครงการดังกล่าวไปให้โครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการมากกว่า แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ให้ขยายเวลาการยื่นคำขอจัดสรรต่อสำนักงบประมาณ" นายวชระกล่าว

ให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการบันทึกข้อมูลแผนงาน งวดงาน และงวดเงินตามระบบ Projects Financial Monitoring System (PFMS) ที่กระทรวงการคลังกำหนดทุกโครงการ หากไม่มีการบันทึกข้อมูลถือว่าโครงการดังกล่าวยังไม่มีการดำเนินงาน และให้ยุติโครงการ เพื่อสามารถนำเงินจากโครงการดังกล่าว ไปให้โครงการที่มีความพร้อมในการดำเนินการมากกว่าแต่ไม่ได้รับอนุมัติต่อไป

สำหรับการเบิกจ่ายเงินโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ตามวงเงินงวดแรก มีโครงการได้รับจัดสรรแล้ว จำนวน 15,852 โครงการ จำนวนเงิน 158,784 ล้านบาท ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 6,238 โครงการ จำนวนเงิน 110,044 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 34,767.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.90 ของจำนวนเงินจัดสรร โดยยังมีหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรแล้วแต่ยังไม่ลงนามในสัญญา จำนวน 9,614 โครงการ จำนวนเงิน 48,604 ล้านบาท ส่วนวงเงินรอบที่ 2 จำนวน 149,999.84 ล้านบาท หน่วยงานได้รับจัดสรรแล้ว จำนวน 20,351 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 11,524 ล้านบาท

กฤษฎีกาโยน กม.กู้เงินให้ศาล รธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบมา หลังจากที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือมาถึงตน ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ช่วยพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเงินกู้ ข้อแรก คือ ถ้าเขียนตามที่กฎหมายบัญญัติ บอกว่า “ให้มีการเสนอกรอบการพิจารณาใช้เงินต่อรัฐสภา” ก็ตอบไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร คำว่าพิจารณา ในที่นี้จะหมายถึงทีละสภา หรือประชุมร่วม หรือเป็นเรื่องการเห็นชอบก่อนหลัง ใคร สภาไหนจะมีอำนาจมากกว่ากัน แก้ไขได้หรือไม่ สรุปว่า ถ้าเขียนในขณะนี้ก็ไม่สามารถตอบได้เลยว่าในทางปฏิบัติจะทำอย่างไร

มีข้อสังเกตว่า หากให้มีการประชุมร่วมน่าจะเกินเลยที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ในการประชุมร่วมของรัฐสภา ประเด็นที่สอง ทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ถ้ามีการตั้งกลไกในลักษณะกรรมาธิการ หรือกรรมการที่ตั้งโดยประธานรัฐสภา เพื่อมาพิจารณาเรื่องกรอบการใช้เงิน น่าจะเกินเลยขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติในเรื่องขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อความเห็นไม่อาจหาข้อยุติได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ที่จะสามารถชี้ขาดได้ คือศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งตนจะส่งกลับไปยังกรรมาธิการพิจารณา

เมื่อถามว่าจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีช่องทางที่จะส่งได้ในขณะนี้ ถือเป็นปัญหาในระบบของเราว่าประเด็นที่มีข้อสงสัยในเชิงรัฐธรรมนูญแต่กรณียังไม่เกิด จะส่งได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายพิจารณาเสร็จแล้ว ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ มีคนสงสัยว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นกรรมาธิการ

"ชั้นนี้เป็นเพียงคณะกรรมาธิการขอให้เราขอคำวินิจฉัย และไม่ทราบว่าผลการตัดสินของกรรมาธิการเป็นอย่างไรในที่สุด จะคงร่างที่มีอยู่" นายอภิสิทธิ์ตอบคำถามที่ว่าจะต้องรอให้พิจารณากฎหมายผ่านสภาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วจึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความใช่หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น