xs
xsm
sm
md
lg

บอนด์ไทยเข้มแข็งทะลัก ยอดพุ่ง5หมื่นล้านดอกเบี้ยบาน4.0%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เปิดทางคลังออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านบาท เคาะดอกเบี้ยขั้นบันได 3.0 – 5.0% เฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ 4% ด้าน สบน.ยอมรับประชาชนให้ความสนใจมากเปิดขายผู้สูงอายุ 14-16 ก.ค.ก่อนขายเป็นการทั่วไป ระบุจะต้องกระจายช่องทางระดมทุนเพื่อสร้างเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ส่วนหนี้สาธารณะสิ้นเดือนเมษายนอยู่ที่ระดับ 43.02% ของจีดีพี

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ “ไทยเข้มแข็ง” จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยจัดสรรวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทแรก เสนอขายแก่ผู้สูงอายุ ในสัปดาห์ที่ 3 ของ เดือนก.ค. ส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านบาท จะเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวจะมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3.8% ในช่วงเริ่มต้น และถึง 5% ในปีสุดท้าย อย่างไรก็ตาม พันธบัตรในส่วนที่จะขายให้กับประชาชนทั่วไป ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะขายครั้งเดียวหรือทยอยขายเป็นงวดๆ เนื่องจากในเบื้องต้นกระทรวงการคลังเสนอว่า อาจจะทยอยขายเป็นงวดๆ เพื่อจะไม่ต้องรับภาระดอกเบี้ยทั้งหมดในทันที เนื่องจากยังไม่มีโครงการที่ใช้เงินทั้งหมดในทันที

โดย ครม.ได้ให้กระทรวงการคลัง จัดทำรายละเอียดเสนอกลับมาให้ครม.รับทราบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะเริ่มขายพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี ได้ประมาณวันที่ 14-15 ก.ค.นี้ โดยจะมีอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ซึ่งในปีแรกอาจจะสูงกว่า 3% และคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5% ในปีที่ 5 และพร้อมจะเพิ่มวงเงินขายพันธบัตรอีก 2 หมื่นล้านบาท หากมีความต้องการสูงมากจากประชาชน

***สบน.ระบุต้องกระจายลงทุน
สร้างเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน. ทำหนังสือถึงนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังเพื่อขอขยายเพดานการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งเพิ่มอีกเกือบเท่าตัว จากปัจจุบันที่กำหนดไว้ว่าจะออกพันธบัตรดังกล่าวอายุ 5 ปีวงเงิน 30,000 ล้านบาท เนื่องจากมีประชาชนสนใจสอบถามเข้ามาจำนวนมาก อีกทั้งกระทรวงการคลังไม่ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์มานานนับปีแล้วด้วย

ทั้งนี้ สบน.กำลังเตรียมความพร้อมเรื่องการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง หลังจากที่ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว โดยกำหนดผลตอบแทนดอกเบี้ยเป็นแบบขั้นบันได เฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 4% เริ่มจำหน่ายวันที่ 14-20 ก.ค.นี้ โดยให้ผู้สูงอายุมีสิทธิจองซื้อก่อนช่วง 3 วันแรก แต่จองซื้อมาก จะทำให้ประชาชนทั่วไปซื้อได้น้อย

ขณะเดียวกันคนที่มีเงินออมส่วนใหญ่ต้องการถือพันธบัตรของรัฐบาล แต่รัฐต้องกระจายการระดมทุนไปยังนักลงทุนสถาบันด้วย เพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ ด้วยการจำหน่ายให้กับกองทุนต่าง ๆ ที่เป็นช่องทางในการระดมทุนของรัฐตามช่องทางปกติ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม บริษัทประกันชีวิต กองทุนรวมของบริษัทต่าง ๆ

***หนี้สาธารณะแตะระดับ 43.02% ของจีดีพี
ผอ.สบน.กล่าวว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เม.ย.2552 มีจำนวน 3.799 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43.02% ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 91,123 ล้านบาท เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เพิ่มขึ้น 81,001 ล้านบาท อยู่ที่ 2.445 ล้านล้านบาท /หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้น 7,202 ล้านบาท มาที่1.036 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้น 4,948 ล้านบาท มาที่ 205,061 ล้านบาท

แต่หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ลดลง 2,028 ล้านบาท เหลือ 108,230 ล้านบาท เนื่องจากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ส่วนหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่เปลี่ยนแปลง โดยอยู่ที่ 3,683 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ เกิดจากการที่รัฐบาลออกตั๋วเงินคลัง 115,688 ล้านบาท เป็นการใช้วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 61,688 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลออกพันธบัตรรัฐบาล 15,000 ล้านบาท และออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหมื่นล้านบาท

ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ออกพันธบัตร 6,000 ล้านบาท และ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน เบิกจ่ายเงินกู้ระยะยาว 5 พันล้าน-บาท นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้น 4,000 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ออกพันธบัตร 1,000 ล้านบาท

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง แยกเป็น สัดส่วนหนี้ต่างประเทศ 381,828 ล้านบาท คิดเป็น 10.05% และหนี้ในประเทศ 3.417 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.95% เป็นหนี้ระยะยาว 88.83% และหนี้ระยะสั้น 11.17%

***พ.ค.ปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตร 4.17 หมื่นล.
นายพงษ์ภาณุกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนพ.ค.52 กระทรวงการคลังได้ปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล จำนวน 3 หมื่นล้านบาท จากวงเงินที่ครบกำหนด 4.17 หมื่นล้านบาท โดยส่วนที่เหลือได้ชำระคืนจากงบชำระหนี้ ส่วนรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยทำการ Roll over วงเงินรวม 2 พันล้านบาท โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ได้ทำการ Roll over หนี้เดิม วงเงินแห่งละ 1 พันล้านบาท

ส่วนช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณกระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ วงเงินรวม 7.99 หมื่นล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในส่วนของ FIDF1 จำนวน 4.99 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนด 3 หมื่นล้านบาท และรัฐวิสาหกิจได้ทำการ Roll over หนี้เดิมรวม 2.68 หมื่นล้านบาท

***กู้ชดเชยขาดดุล 5.13 หมื่นล้าน
ขณะที่การกู้เงินภาครัฐในเดือนพ.ค.กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินรวม 5.13 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 4.7 หมื่นล้านบาท และออกตั๋วเงินคลัง วงเงิน 4.3 พันล้านบาท ด้านรัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศ วงเงินรวม 1.85 พันล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของการประปาส่วนภูมิภาค 850 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินกิจการทั่วไปของธนาคารอาคารสงเคราะห์ 1 พันล้านบาท

ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 4.99 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินของกระทรวงการคลัง 3.53 แสนล้านบาทและของรัฐวิสาหกิจ 1.46 แสนล้านบาท

ส่วนการชำระหนี้ภาครัฐเดือนพ.ค.กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณรวม 2.63 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 1.77 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 8.5 พันล้านบาท และช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ ได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 1.09 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น