"แบงก์ชาติ" ชี้ โครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมแบงก์พาณิชย์ บิดเบือนไม่สอดคล้องต้นทุนจริง ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมแพงเกินจริง เล็งทบทวนใหม่ ทั้งการฝาก ถอน โอน ผ่านตู้เอทีเอ็ม คาดได้เห็นภายในปีนี้ แย้มจุดยืนโปร่งใส และเอื้อการแข่งขัน หวั่นเกณฑ์ใหม่ไร้ผล อาจฮั้วกันเหมือนมาตรการ ดบ.ฝาก-กู้
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการเงินแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยผลการศึกษาโดยพบว่า โครงสร้างค่าธรรมเนียมบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน มีลักษณะบิดเบือนไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมสูงเกินความเป็นจริง
กรณีดังกล่าว ธปท.ไม่นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้างค่าธรรมเนียมการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ เช่น การโอน ฝาก และถอนเงิน ผ่านตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจาก ธปท.ก็มองว่า วิธีคิดค่าธรรมเนียมในบางธุรกรรมของธนาคารในปัจจุบันไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเท่าที่ควร ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมบางธุรกรรมแพงเกินความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม การจะยกเลิกการตั้งเพดานค่าธรรมเนียมการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ธปท.จะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบก่อน ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะสามารถจะเห็นได้ภายในสิ้นปีนี้
“เรื่องการคิดค่าธรรมเนียม ธปท.คิดมานานแล้วว่าไม่เหมาะสม เพราะเห็นว่า ยังมีบางธุรกรรมที่คิดค่าธรรมเนียมสูง เช่น ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีต้นทุนที่ถูกกว่า กลับคิดค่าธรรมเนียมสูงกว่า เพื่อมาชดเชยธุรกรรมที่มีต้นทุนที่สูงกว่า เช่น การสั่งจ่ายด้วยเช็ค และการให้บริการผ่านหน้าเคาน์เตอร์บริการ ที่สาขาของธนาคาร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ต้นทุนไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงอยู่”
สำหรับเกณฑ์ในการดูแลคิดอัตราค่าธรรมเนียมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จะเน้นใน 3 เรื่อง คือ ค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ความโปร่งใส และเปิดเพื่อให้เกิดการแข่งขัน อย่างไรก็ตามแม้จะยกเลิกเพดานค่าธรรมเนียม ก็ไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น เห็นได้จากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ที่ปัจจุบัน ธปท. ก็ไม่ได้มีเพดานค่าธรรมเนียม แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังไม่มีการแข่งขันอยู่ดี ดังนั้นเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ