ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ฉายภาพตลาดเงินสัปดาห์หน้า คาดปริมาณเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากกว่าปรกติ เนื่อจากธนาคารพาณิชย์จะตัดจ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบธนาคาร คาดมีการอัดสภาพคล่องเพิ่มเต็มสปีด เพราะสัปดาห์หน้ายังตรงกับเทศกาล ตรุษจีน-วาเลนไทน์ วนค่าเงินบาทคาดปรับตัวผันผวน ก่อนอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผยรายงานภาวะตลาดเงินในสัปดาห์หน้า (วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2553) โดยระบุว่า เม็ดเงินจะมีปริมาณหมุนเวียนในระบบค่อนข้างสูง และมีอัตราการหมุนที่เร็วกว่าปรกติ เนื่องจากจะมีการตัดจ่ายเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบธนาคารในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์จะมีการปิดสำรองสภาพคล่องรายปักษ์ในวันอังคารและเข้าสู่ปักษ์ใหม่ในวันพุธ นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ น่าจะมีการเตรียมสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน และวาเเลนไทน์
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น น่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องใกล้ระดับ 1.25% อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภาวะสภาพคล่องในตลาดเงินที่น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนเงินบาทในประเทศอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 32.90-33.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ ประเด็นทางการเมืองในประเทศ สัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินของ ธปท. และทิศทางของสกุลเงิน รวมถึงตลาดหุ้นในภูมิภาค
ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุเพิ่มเติมว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัว ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดเงินที่ยังมีอยู่มาก โดยมีการทยอยไหลกลับของสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินหลังผ่านสิ้นเดือน ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทกู้ยืมข้ามคืน (Overnight) หนาแน่นที่ระดับร้อยละ 1.15 ตลอดทั้งสัปดาห์ เช่นเดียวกับในสัปดาห์ก่อนหน้า
ส่วนอัตราผลตอบแทนถัวเฉลี่ยที่ประมูลได้ของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repo) ระยะ 1, 7 และ 14 วัน ยังคงปรับตัวใกล้ระดับ 1.25% เช่นเดิม สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในต่างประเทศที่สำคัญ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดร้อยละ 0.5 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 และระงับโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มูลค่า 2 แสนล้านปอนด์ ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ ร้อยละ 1.0 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ตามความคาดหมายเช่นกัน
ส่วนเงินบาทในประเทศ (Onshore) ปรับตัวผันผวนก่อนอ่อนค่าช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนจากตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 4/2552 ของสหรัฐฯ ที่สดใสเกินคาด อนึ่ง การประกาศผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุนไหลออกของธปท. ยังคงส่งผลค่อนข้างจำกัดต่อทิศทางของค่าเงินบาทในระยะสั้น เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าตามการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นโลกในช่วงกลางสัปดาห์ ท่ามกลางความคาดหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐที่แข็งแกร่งเกินคาด อย่างไรก็ตาม เงินบาทต้องลดช่วงบวกทั้งหมดและกลับไปอ่อนค่าลงอีกครั้งเช่นเดียวกับทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงปลายสัปดาห์