xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบี-ธ.โลกให้กู้ 2 หมื่นล้านผุดถนนค้าขายเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอดีบีกับเวิลด์แบงก์ไฟเขียววงเงินกู้กระทรวงการคลัง 2 หมื่นล้านบาท ผุดทางหลวง 4 ช่องจราจร 8 เส้นทางทั่วประเทศเชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ลงนามร่วมกับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) อนุมัติวงเงินกู้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทเพื่อก่อสร้างทางหลวง 4 ช่องจราจร ตามโครงการที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมเสนอมาทั้งสิ้น 8 โครงการ ระยะทางรวมทั้งสิ้น 633 กิโลเมตร

วงเงินกู้จากเอดีบีนั้นใช้ก่อสร้างทางหลวง 3 โครงการประกอบไปด้วย 1.ทางหลวงหมายเลข 12 เส้นทางพิษณุโลก – หล่มสัก ตอนที่ 1 – 5 ระยะทาง 105 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างประมาณ 3,340 ล้านบาท 2.ทางหลวงหมายเลข 2042 เส้นทางอ.กุฉินารายณ์ – อ.คำชะอี ตอนบ้านนาไคร้ – อ.คำชะอี ระยะทาง 34.750 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 950 ล้านบาท และ 3.ทางหลวงหมายเลข 359 เส้นทาง อ.พนมสารคาม – สระแก้ว ระยะทาง 72.7 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 1,750 ล้านบาท รวมระยะทาง 212.450 กิโลเมตร

ส่วนวงเงินกู้จากเวิลด์แบงก์ ใช้ก่อสร้างทางหลวง 5 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ทางหลวงหมายเลข 24 เส้นทาง อ.สีคิ้ว – จ.อุบลราชธานี ตอน อ.นางรอง – อ.ปราสาท ระยะทาง 66.770 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้างประมาณ 1,500 ล้านบาท 2.ทางหลวงหมายเลข 201 เส้นทางอ.สีคิ้ว – จ.ชัยภูมิ ตอน อ.สีคิ้ว – บ้านหนองบัวโคก ระยะทาง 57.692 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 1,350 ล้านบาท

3.ทางหลวงหมายเลข 331 ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 36 – ทางหลวงหมายเลข 3 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระยะทาง 25.923 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 750 ล้านบาท 4.ทางหลวงหมายเลข 408 เส้นทางนครศรีธรรมราช – สงขลา ตอน อ.ระโนด – อ.สทิงพระ ระยะทาง 28.092 กิโลเมตร วงเงิน 900 ล้านบาท และ 5. ทางหลวงหมายเลข 4 เส้นทางพังงา – กระบี่ ตอน 3 (ทับปุด – อ่าวลึก) ระยะทาง 29.658 กิโลเมตร วงเงินก่อสร้าง 700 ล้านบาท รวมระยะทางทั้งสิ้น 208.539 กิโลเมตร

“เป็นที่สังเกตว่าการเสนอโครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรของกรมทางหลวงจะมีมูลค่าการก่อสร้างที่สูงมาก โดยเฉพาะที่สังเกตจาก 8 โครงการที่เพิ่งได้รับเงินกู้จะเห็นว่ามีมูลค่าก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรสูงถึงกิโลเมตรละประมาณ 30 ล้านบาท แต่คุณภาพถนนสามารถใช้งานได้ไม่นานเพียงไม่กี่ปีก็ต้องมีการซ่อมบำรุงกันตลอดเวลา แต่เมื่อมีข้อซักถามไปกรมทางหลวงก็สามารถตอบคำถามในเชิงเทคนิกได้ตลอดเวลาแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงได้” แหล่งข่าวกล่าว

โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจรดังกล่าวส่วนใหญ่จะเน้นการสนับสนุนการขยายทางหลวงในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ GMS (Greater Mekong Sub-Region) เช่น โครงการยกระดับทางหลวงระหว่างพิษณุโลกกับหล่มสัก และ พนมสารคาม (ฉะเชิงเทรา) กับ จ.สระแก้ว รวมระยะทาง 178 กิโลเมตร จาก 2 เป็น 4 ช่องทางจราจร เป็นทางเชื่อมต่อเข้ากับระบบถนนระเบียงเศรษฐกิจจีเอ็มเอส (GMS economic corridor) ที่เชื่อมกัมพูชา จีน ลาว พม่า ไทยและเวียดนาม เข้าด้วยกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าขายข้ามแดน และ ขยายระบบขนส่งเข้าสู่ดินแดนที่ไม่มีทางออกทะเล เพื่อให้ทั่วทั้งอนุภูมิภาคได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมต่อเส้นทางในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดและเซาท์เทิร์นซีบอร์ดให้ติดต่อกันได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น