ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์ -- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของลาวแม้ว่าจะมีขนาดเล็กมาก แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่สูงมากในหลายปีมานี้ และทางการเชื่อว่าการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ภายในปี 2558 หรืออีก 5-6 ปีข้างหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศอาจจะสูงถึง 3.4 ล้านคน พร้อมกับรายได้ที่สูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการ
แม้จะเทียบไม่ได้กับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาการท่องเที่ยวมาไกลกว่าเช่นประเทศไทย ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ แต่การท่องเที่ยวของลาวเทียบเคียงได้กับเพื่อนบ้านที่กำลังพังพัฒนาในระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามหรือกัมพูชา ที่มีทรัพยากรมากกว่า
ปีนี้ลาวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมครั้งที่ 25 กำลังจะมีนักกีฬา ครูผู้ฝึกสอนและคณะติดตามเดินทางเข้าหลายพันคนในเดือน ธ.ค.ศกนี้ คนจำนวนมากในนั้นอาจจะต้องกับไปเที่ยวลาวให้เป็นเรื่องเป็นราวอีกครั้งหนึ่ง
ในปีหน้าทางการกำลังจะจัดกิจกรรม จัดเทศกาลกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 450 การก่อตั้งนครเวียงจันทน์ จะเป็นปีที่การท่องเที่ยวคึกคักเป็นพิเศษ กำลังจะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ใหญ่โตทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค รวมทั้งผ่านสถานทูต สถานกงสุลในประเทศและดินแดนต่างๆ
มองย้อนกลับเข้าไปในลาวจะพบว่า การท่อเที่ยวที่พัฒนามาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นฝีมือพอสมควรที่เดียว เมื่อคิดคำนวณจากทั้งจุดเด่นและจัดด้อยของอุตสาหกรรมนี้
ลาวเป็นประเทศไร้ทางออกทะเล ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะสวาทหาดสวรรค์ ที่เชิดหน้าชูตาเช่นในประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง เป็นแหล่งหลบอากาศหนาวเย็นของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกปีละหลายล้านคน การท่องเที่ยวของลาวจึงต้องพัฒนาจุดแข็งด้านอื่นๆ ขึ้นมาเป็นจุดขาย เพื่อกลุ่มเป้าหมายที่ต่างออกไป
นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศจึงปรับทิศไปที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือเชิงอนุรักษ์ เป็นการท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามของธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่อุดมมั่งมีและสวยงามของชาวลาวนั่นเอง
ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งก็คือ การเป็นประเทศเล็กที่มีประชากรเพียงประมาณ 6 ล้านคน และใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด การจะต้อนรับผู้ไปเยือนถึงปีละ 10-20 ล้านคน เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยในช่วง 20-30 มานี้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เงื่อนไขเฉพาะต่างๆ ด้วยความไม่พร้อมทั้งด้านสถานให้บริการแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งเรื่องอาหารการกินทำให้องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติของลาว เคยจำกัดการขยายตัวการท่องเที่ยวเอาไว้ปีละไม่เกิน 10% ในช่วงหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายสมพง มงคนวิไล ประธานองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในช่วงหลายปีมานี้แม้ว่าจะต้องผ่านอุปสรรคต่างอย่างมากมาย แต่การท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่สูงเฉลี่ยถึง 20% ต่อปี
นั่นคือ การท่องเที่ยวของลาวเช่นเดียวกันกับในภูมิภาค ได้ฝ่าฟันมาทั้งการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจอักเสบเฉียบพลันรุนแรง หรือ "โรคซาร์" เมื่อปี 2526-2547 การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก การเกิดปีแห่งข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจโลกถดถอย รวมทั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ในขณะนี้ด้วย
การท่องเที่ยวกำลังเข้าไปมีบทบาทอย่างสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ "กระจายรายได้ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมให้แก่ชุมชนทั้งภายในตัวเมืองและชนบท" และ "ยังเป็นตัวผลักดันให้ให้แขนงเศรษฐกิจอื่นๆ ของลาวให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง" สำนักข่าวสารปะเทดลาวได้อ้างคำกล่าวของนายสมพง ซึ่งมีตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่ง
ตามตัวเลขที่เผยแพร่ในการประชุมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ ในสัปดาห์ต้นเดือน พ.ย. ปีงบประมาณ 2551-2552 ที่สิ้นลงในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าลาวจำนวน 1.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้ประเทศ 290 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปี 2543 ที่มีนักท่องเที่ยวเพียง 700,000 คนเศษ และทำรายได้ประมาณ 120 ล้านดอลลาร์
องค์การท่องเที่ยวแห่งชาติกล่าวว่า ในปี 2015 ลาวอาจจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึงปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก คิดเป็นประมาณ 70% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีขณะนี้ จึงเป็นรายได้มหาศาลที่เดียว
ปัจจุบันการท่องเที่ยวกำลังขยับขยายออกไปจากเมืองหลวงกับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง สู่แขวงอื่นๆ ทางภาคเหนือที่เต็มไปด้วยธรรมชาติสวยงามกับแหล่งประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเชียงขวาง หัวพัน อุดมไซ และไกลออกไปทางจะวันตกเฉียงเหนือคือ แขวงบ่อแก้ว ที่สถานกาสิโนสามเหลี่ยมทองคำของลาวผุดขึ้นมาในปีนี้
ใต้ลงไป รัฐบาลได้ผ่านแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตนทีสี่พันดอนออกมา ต่อยอดกับการท่องเที่ยวโบราณสถานและแหล่งมรดกโลกวัดพูจำปาสัก น้ำตกหลี่ผีกับคนพะเพ็ง
กำลังจะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงกับสนามบินอีก 1 แห่ง ในอาณาบริเวณดังกล่าว เช่นเดียวกับโรงแรมหรูและสถานกาสิโนใหญ่ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวตามศักยภาพของพื้นที่.