xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำแปรรูปตลท.สู้แข่งขันสูง ชี้ตลาดหุ้นยังสับสนบทบาทตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัยตลาดหุ้นไทย เชื่อมั่นการแปรรูปตลาดหุ้นเป็นเรื่องถูกต้อง หากต้องการรองรับความท้าทายของตลาดทุนโลก และเพิ่มศักยภาพแข่งขัน รวมถึงป้องการถูกลดทอนบทบาท ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุ ตลาดหุ้นไทยยังสับสนในบทบาทตนเอง ย้ำต้องมีความชัดเจน แปรรูปต้องโปร่งใส ไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆต้องมีกลไกดูแลเพื่อความเหมาะสม ฟากก.ล.ต.ยืนยันสนับสนุน บล.และบลจ.เป็นองค์กรในการกับดูแลตนเอง (SRO) ไตรมาส1ปีหน้าบินดูงานเพื่อนบ้าน ประเมินหากทุกอย่างลุล่วงจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส4/53

นายยรรยง ไทยเจริญ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงผลการวิจัยเรื่อง “บทเรียนจากการ Demutualization ตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ” ว่า จากประสบการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ ที่ผ่านการ Demutualization(แปรรูป) แล้ว ทำให้เชื่อว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อรองรับความท้าทายในตลาดทุนโลก และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงป้องกันการถูกลดทอนบทบาทในเวทีโลก

อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นต่างๆต่อไปนี้อย่างรอบคอบ ได้แก่ 1.ควรเปิดเสรีธุรกิจตลาดหลักทรัพย์มากน้อยเพียงใด และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น national champion

2.ถึงแม้ไม่พบว่า ตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านการแปรรูปแล้ว เพิ่มค่าธรรมเนียมอย่างไม่สมเหตุสมผล แต่หน่วยงานกำกับดูแลควรมีกลไกเพื่อดูแลความเหมาะสมของค่าธรรมเนียมไว้ด้วย โดยเฉพาะในประเทศที่ขนาดตลาดทุนเล็ก 3.ควรแยกบทบาทในการกำกับดูแลตลาดอย่างชัดเจน ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ โดยจะต้องสอดคล้องกับระดับการพัฒนาตลาดทุน และกรอบการกำกับดูแลจะต้องสามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ได้ทันเวลา และสุดท้าย 4.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง governance structure อย่างจริงจัง ควรกระจายหุ้นให้แก่สาธารณชนในสัดส่วนที่มากพอ

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ปัญหาที่แท้จริงของตลาดหลักทรัพย์ไทยคือความสับสนในบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาธุรกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องดำเนินการในเชิงพาณิชย์ คือต้องมีการเพิ่มสินค้า เพื่อวอลุ่มซื้อขาย เพิ่มบริษัทจดทะเบียน ควบคู่ไปกับกรดำเนินงานในเชิงพัฒนา คือการกำกับดูแล และให้ให้ความรู้ด้านการลงทุนต่างๆ

ส่วนการแข่งขั้นทางธุรกิจที่หลายคนกังวลเรื่องATS หรือการจับคู่ซื้อขายนอกตลาด ส่วนตัวมองว่านี่เป็นกระแสการลงทุนแบบหนึ่งในช่วงนี้เท่านั้น แต่ในอนาคตอาจไม่ใช่คู่แข่งขันที่น่าสนใจต่อตลาดหลักทรัพย์ได้ เช่นเดียวกับการกำกับดูแล นักลงทุนทุกคนอยากได้ตลาดหลักทรัพย์ที่เมื่อหลังแปรรูปแล้วมีการดำเนินงานที่โปร่งใส

ขณะที่ในเรื่องของอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ยอมรับว่ายังไม่ใจ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยจะมีขนาดเล็ก และมีต้นทุนในเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน

“ตลาดทุนไทยมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถ้าเปิดเสรีแล้วเต้องทำให้ตลาดหุ้นมีความแข็งแกร่งพอ แข่งขันกับคนอื่นได้ ไม่ใช่พอเปิดเสรีแล้วสู้เขาไม่ได้ โดนคนอื่นมาคุมหรือมีบทบาทมากกว่า แม้มองในแง่ดีว่าจะเกิดการแข่งขันมากขึ้นก็ตาม แต่เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุน และประโยชน์ที่เราควรได้รับด้วย”

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การแปรรูปตลาดหุ้นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ประเทศที่พัฒนาไปก่อนหน้านี้อย่าง โตเกียว เกาหลี ฟิลิปปินส์ กระบวนบางอย่างก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพราะตลาดหุ้นถูกถือหุ้นอยู่ในกลุ่มเดียวมากเกินไป ดังนั้นตลาดหุ้นต้องโปร่งใส มีประสิทธิภาพ สามารถคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยได้ โดยต้องรู้ว่ากระบวนการในการเดินหน้าคืออะไร อะไรจะต้องดำเนินการก่อนหลัง

ขณะเดียวกันในส่วนของการกระจายหุ้น(IPO)ของตลาดหลักทรัพย์ จะต้องให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นชั่วคราว แต่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองด้วย อีกทั้งภาครัฐต้องมีความชัดเจนในระยะเวลาที่จะปล่อยขายหุ้นให้แก่ประชาชน ไม่เช่นนั้นกลายเปนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่มีอะไรแตกต่างจากที่ปัจจุบันเป็นอยู่เลย

นอกจากนี้ ควรมีการพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ในเรื่องต่างๆ ด้วยว่าสิ่งไหนควรดำเนินการก่อนที่จะมีการกระจายหุ้น รวมถึงเมื่อกระจายหุ้นแล้ว ตลาดหักทรัพย์ควรมีโครงสร้างในการดำเนินงานที่เป็นต้นแบบให้แก่บริษัทจดทะเบียนอื่นๆ ได้กระทำตาม

“เรืองการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์มองว่าในปีหน้า จะมีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องตลอดปี ถึงความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ทั้งร่างกฏหมายที่กำลังจะเข้าไปสู่การพิจารณาของครม. เมื่อผ่านก็จะไปสู่วุฒิสภา และขั้นตอนอื่นๆอีกมาก”

***ทิศทางสถาบันตัวกลางต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผุ้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ทิศทางในการกำกับดูแลของก.ล.ต.ในอีก 3 ปีข้างหน้าในเรื่องเกณฑ์ต่างๆนั้นจะมีการปรับให้เป็นระดับสากลและจะมีการออกหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้มีการออกสินค้าใหม่ๆมากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนมีความหลากหลายในการลงทุน โดยเกณฑ์นั้นจะต้องมีความชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ออกสินค้า และนักลงทุนในการเข้ามาลงทุน

ทั้งนี้ในเรื่องการให้ความรู้แก่นักลงทุนถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้นักลงทุนหันมาลงทุนหุ้นในระยะยาวมากขึ้น ไม่ตื่นตระหนกกับปัจจัยที่กระทบระยะสั้น เพราะ ที่ผ่านมีนักลงทุนหลายรายได้มีการเลิกการลงทุนในหุ้นไปเพราะ จากการที่ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนทำให้ผู้นักลงทุนระยะสั้นมีผลขาดทุน แต่หากนักลงทุนมีการลงทุนระยะยาวจะไม่ตื่นตระหนกกับปัจจัยที่มากระทบในระยะสั้น และจะทำให้มีผลตอบแทนที่สูง

**เตรียมบินดูงานSROปีหน้า

นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะมีสนับสนุน บล.และบลจ.เป็นองค์กรในการกับดูแลตนเอง (SRO) ซึ่งมีแผนที่จะไปดูงานที่มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ที่ได้ดำเนินการในเรื่อง SRO มาก่อนแล้ว 2- 3ปี เพื่อไปศึกษาดูงานถึงผลสำเร็จและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของSRO ทั้ง 2 ประเทศ ช่วงไตรมาสแรกปี2553

“SROที่เกาหลีเขารวมทุกองค์กรมาไว้ที่เดียวกัน เช่นสมาคมบล. สมาคมบลจ. สมาคมนักวิเคราะห์ จะถูกนำมารวมกันหมด แต่ที่มาเลย์จะทยอยดำเนินการเป็นเฟส เฟสแรกแบบหนึ่ง เฟสที่สองก็พัฒนาต่อไปอีกแบบหนึ่ง เราจึงอยากศึกษาและดูผลการจัดตั้งSROทั้ง 2 ตลาด เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับตลาดหุ้นไทย”

โดย ก.ล.ต.คาดว่า ในไตรมาส1/53 ตลาดทุนไทยน่าจะมีความเห็นพ้องกันในเรื่องการกำหนดกรอบหรือแนวทางของSROได้ ว่าจะดำเนินการต่อไปในทิศทางเช่นไร ส่วนไตรมาส2/53 คาดว่าจะอยู่ในช่วงของการประเมินความเหมาะสมในเรื่องต่างๆ ขณะที่ไตรมาส3/53 จะเป็นช่วงในการร่างแผนการจัดทำSRO และคาดว่าทุกอย่างน่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสสุดท้ายของปี

**ย้ำบล.ไม่ควรตัดงบรับเปิดเสรีฯ

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์จากนี้มีหน้าที่ร่วมกันที่จะต้องให้ความรู้แก่นักลงทุน ในเรื่องการจัดสรรการลงทุนในหุ้น ซึ่งจากที่มีการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นนั้นก็จะทำให้มีการแข่งขันพอสมควร แต่บล.ไม่ควรที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายในส่วนงานวิจัยเพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจ และมีเจ้าหน้าที่มีการแนะนำการลงทุนที่ดีกับนักลงทุน นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆให้มากขึ้น

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายผลิตภัณฑ์เงินฝากและการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวว่า บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการเป็นตัวกลางในการพัฒนาตลาดทุนมี 4 เรื่อง คือ การให้ความรู้แก่นักลงทุน การขยายฐานนักลงทุน การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการลงทุนแก่นักลงทุนให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และต้องมีการเตรียมระบบในการที่จะให้ความรู้แก่นักลงทุน เช่น พนักงานให้มีความรู้ในสินค้าเพื่อการแนะนำการลงทุนในสินค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น