xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.สั่ง SLC ชี้แจงแผน-เหตุผลให้ชัดเจน หลังเพิ่มทุน 5 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลท.สั่ง SLC ชี้แจงกรณีเพิ่มทุนสูงถึง 5 เท่าขยายธุรกิจใหม่ ภายใน 24 ธ.ค.นี พร้อมวัตถุประสงค์การใช้เงิน และความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ และไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักในปัจจุบัน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกคำสั่งให้บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกรณีการเพิ่มทุนของ SLC ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2552 เนื่องจากเป็นการเพิ่มทุนที่มีจำนวนสูงถึง 5.5 เท่าของทุนชำระแล้วก่อนเพิ่มทุน ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากต่อฐานะการเงินของบริษัทที่มีสินทรัพย์รวม 105 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 82 ล้านบาท โดยมีแผนที่จะนำเงินทุนที่คาดว่าจะได้รับจากการเพิ่มทุนดังกล่าวไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไปขยายธุรกิจใหม่ ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักของ SLC ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ตลท.ยังได้สอบถามถึงเหตุผลที่ SLC ต้องระดมทุนเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นเดิมเป็นจำนวนมากดังกล่าว และเหตุผลที่ SLC เลือกวิธีการระดมทุนด้วยการออก TSR และ Warrant ซึ่งเป็นตราสารที่ผู้ถือสามารถโอนสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญให้บุคคลอื่นได้

นอกจากนี้ ยังรวมทั้ง วัตถุประสงค์การใช้เงินที่คาดว่าจะได้รับจากการเพิ่มทุนโดยการออก TSR และ Warrant โดยกล่าวถึง ชื่อและลักษณะธุรกิจของแต่ละโครงการ มูลค่าโครงการ สัดส่วนการลงทุนและชื่อผู้ร่วมทุนแผนการใช้เงินลงทุน ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ

พร้อมทั้งให้พิจารณาและยืนยันว่า การลงทุนในโครงการดังกล่าวทั้งหมดเข้าข่ายเป็นรายการการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ และรายการที่เกี่ยวโยงกันตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือไม่ อย่างไร อีกทั้ง เหตุผลความจำเป็นที่บริษัทจะขยายการดำเนินธุรกิจไปยังธุรกิจสื่อสมัยใหม่ และธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งต้องใช้เงินทุนสูง ซึ่งบริษัทอาจยังไม่มีความชำนาญ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักในปัจจุบันของบริษัท

นอกจากนี้ ตามวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุน SLC ได้ระบุถึงเงินทุนสำรองสำหรับรองรับโอกาสทางการลงทุนในธุรกิจใหม่ จำนวนเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท โปรดระบุลักษณะของธุรกิจใหม่ดังกล่าว และปัจจัยที่เลือก เข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ดังกล่าว และผู้ที่ได้รับมอบหมายให้พิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ดังกล่าว

ตลท.ยังได้สอบถามถึงข้อมูลของผู้ที่ติดต่อประสานงานและข้อมูลผู้ที่จะเข้ามาบริหารในธุรกิจสื่อสมัยใหม่ ธุรกิจสื่อ สิ่งพิมพ์ และธุรกิจใหม่ทั้งหมดดังกล่าว โดยระบุชื่อ นามสกุล ประสบการณ์ทำงาน การศึกษา และความสัมพันธ์กับบริษัท ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้ง หลักเกณฑ์ที่บริษัทใช้ในการกำหนดราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของ TSR และ Warrant 4 บาทต่อหุ้น ในขณะที่มูลค่าตามบัญชีของหุ้น SLC เท่ากับ 1.63 บาทต่อหุ้น ณ 30 กันยายน 2552

**ผู้บริหาร SLC แจงผลกระทบผู้ถือหุ้นกรณีออก TSR ต่อราคาหุ้น

ล่าสุด นางสาวทรรศนีย์ วงศ์ปิยะพันธุ์ รองกรรมการอำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน SLC ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการเสนอขายใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ของบริษัท (SLC-T1) ที่มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีที่ 1 ผู้ถือหุ้นเดิมเป็นผู้ใช้สิทธิแปลงสภาพใบแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 ทั้งจำนวน และกรณีที่ 2 บุคคลอื่นที่มิใช่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมเป็นผู้ใช้สิทธิแปลงสภาพใบแสดงสิทธิจะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทครั้งที่ 1 ผู้ถือหุ้นทั้งจำนวน

สำหรับผลกระทบต่อสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นเดิม (Control Dilution) กรณีที่ 1 เท่ากับศูนย์ ในกรณีที่ 2 ไม่เกิน 83.33%, ผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไร (EPS Dilution) กรณีที่ 1 เท่ากับศูนย์ ในกรณีที่ 2 ไม่เกิน 83.33%

ผลกระทบต่อราคาตลาดของหุ้น (Price Dilution) ในกรณีที่ 1 และ 2 ลดลงประมาณ 17.59% จากราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์รวม 15 วันทำการก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติในวันที่ 18 ธันวาคม 2552 เท่ากับ 5.0703 บาทต่อหุ้น

การจัดสรรหุ้นในครั้งนี้ มีผลกระทบต่อราคาหุ้น ทำให้ราคาหุ้นลดลงประมาณ 17.59% คำนวณตามสูตรดังนี้

Price Dilution = (ราคาตลาดก่อนเสนอขาย - ราคาตลาดหลังเสนอขาย) / ราคาตลาดก่อนเสนอขายราคาตลาดก่อนเสนอขาย = ราคาตลาดถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 15 วันทำการ (จากวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2552) = 5.0703 บาทต่อหุ้น

ราคาตลาดหลังเสนอขาย = ((ราคาตลาดก่อนเสนอขาย x จำนวนหุ้น paid-up) + (ราคาใช้สิทธิ x จำนวนหุ้นรองรับที่เสนอขายครั้งนี้)) /(จำนวนหุ้น paid-up + จำนวนหุ้นรองรับที่เสนอขายครั้งนี้)) = 4.1784 บาทต่อหุ้น

ราคาที่เสนอขาย = 0.00 บาทต่อหุ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น