xs
xsm
sm
md
lg

ต่างชาติเริ่มเทขายหนีมาบตาพุด หุ้นไทยพ.ย.โตต่ำสุดในภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สรุปภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนพ.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค อีกทั้งนักลงทุนต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณขายสุทธิต่อเนื่องจากปัญหามาบตาพุด และการเมือง รวมถึงใกล้หยุดยาวตามเทศกาล หลังซื้อสุทธิต่อเนื่องมา 8 เดือนมลูค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนวอลุ่มซื้อขายต่อวันเหลือ 18,954 ล้านบาทต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ด้านการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สทำนิวไฮด์ 3,800 สัญญาต่อวัน ตามราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่วานนี้ดัชนีฯติดลบ 4.11 จุดตามแรงเทขายทั่วโลก หลังนักลงทุนไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ พร้อมคาดวันศุกร์ยังลดลงต่อ

นายวิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการ สายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหลักทรัพย์ของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบภายในประเทศ ทั้งปัญหาโครงการมาบตาพุดและสถานการณ์ทางการเมืองที่จะมีการนัดชุมนุม ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.56%จากเดือนตุลาคม ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส3/52 จะออกมาดีสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศราฐกิจต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากกรณีมาบมาพุตนั้นทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิตลาดหุ้นไทยออกมาเป็นครั้งแรกรอบ 9 เดือน มีมูลค่าขายสุทธิ 13,239 ล้านบาท จากที่มีการซื้อสุทธิต่อเนื่อง 8 เดือน แต่จากต้นปีถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศยังมียอดซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 42,483 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติยังคงมีการขายสุทธิตลาดหุ้นไทยอยู่ หากยังไม่มีความชัดเจนการแก้ไขปัญหา ประกอบกับเป็นช่วงปลายปีที่นักลงทุนต่างชาติจะหยุดยาว

สำหรับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 18,954 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบ 27 เดือนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 73% แต่ในส่วนของจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายยังคงปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่5.59 แสนบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อนหน้าที่ 5.54 แสนบัญชี แต่มูลค่าการซื้อขายต่อบัญชีปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 4.01 ล้านบาท เหลือ 3.89 ล้านบาทเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ขณะที่ ภาวะการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ปริมาณสัญญาซื้อขายในตลาดอนุพันธ์มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 16,669 สัญญาต่อวัน เนื่องจาก การซื้อขายของโกลด์ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) เพิ่มขึ้น117% จากเดือนตุลาคม และเป็นสถิติสูงสุดใหม่ (New High)ที่ 3.84 พันสัญญาต่อวัน ตามความสนใจของนักลงทุนจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายนบริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนจำนวน 1,042 ล้านบาท โดยระดมทุนในตลาดแรก จากที่มี 2 บริษัทเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป(ไอพีโอ) มูลค่ารวม 286.5 ล้านบาท และมีการระดมทุนในตลาดรอง 755.5 ล้านบาท

นอกจากนี้ แม้กลุ่มนักลงทุนทั่วไปในประเทศยังคงมีสัดส่วนการซื้อขายหลักทรัพย์สูงที่สุดคือร้อยละ 55 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด แต่กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและบริษัทหลักทรัพย์มีบทบาทในการซื้อขายเพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศขยับเพิ่มขึ้นจาก 19.5% ในเดือนตุลาคมเป็น 22.5 %ของมูลค่าซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายของบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก11.9% ในเดือนตุลาคมเป็น15.5% ของมูลค่าการซื้อขายในเดือนพฤศจิกายน

ทั้งนี้ในไตรมาส 3/2552 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลงหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากปัจจัยเฉพาะชั่วคราวของบริษัทในกลุ่มทรัพยากรเป็นหลัก หากไม่นับรวมบริษัทในกลุ่มทรัพยากร กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอื่นยังคงขยายตัวต่อเนื่องสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ดังนั้น ภาพรวมด้านการลงทุน (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มที่เข้าข่ายเพิกถอนกิจการ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) พบว่ามีบริษัทที่ลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร 343 บริษัท คิดเป็นร้อยละ 91.22 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด เพิ่มขึ้น85%เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2551 และเพิ่มขึ้น 88.27%จากไตรมาส 2/2552 ซึ่งสะท้อนได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่สนใจลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวร ทั้งนี้ มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 93.48 พันล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวรสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร ซึ่งคิดเป็น62.08% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

หุ้นไทยลบ 4.11 จุดตามแรงขายในตลาดทั่วโลก
สำหรับความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย วานนี้(9ธ.ค.) ปิดที่ระดับ 694.71 จุด ลดลง 4.11 จุด -0.59% มูลค่าการซื้อขาย 16,135.73 ล้านบาท โดยรวมดัชนียังปรับตัวตามแรงขายที่เกิดขึ้นในตลาดทั่วโลก เหตุนักลงทุนยังไม่มั่นใจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก ขณะที่ปัจจัยในประเทศรับแรงกดดันจากปัญหามาบตาพุด ส่วนการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันนี้(10ธ.ค.) ไม่ค่อยกังวลแล้ว เพราะเกิดขึ้นบ่อยและที่ผ่านมาไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรง

ทั้งนี้ ระหว่างวันดัชนีแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 697.04 และต่ำสุดอยู่ที่ 688.91 จุด โดยหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 106 หลักทรัพย์ ลดลง 218 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 116 หลักทรัพย์ ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ BANPU มูลค่าการซื้อขาย 1,736.85 ล้านบาท ปิดที่ 522.00 บาท ลดลง 16.00 บาท TCAP มูลค่าการซื้อขาย 1,103.68 ล้านบาท ปิดที่ 21.90 บาท ลดลง 0.60 บาท PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 973.96 ล้านบาท ปิดที่ 131.00 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง PTT มูลค่าการซื้อขาย 972.69 ล้านบาท ปิดที่ 221.00 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง และ SCB มูลค่าการซื้อขาย 908.55 ล้านบาท ปิดที่ 84.00 บาท ลดลง 1.75 บาท

นายอนุพนธ์ ศรีอาจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บีฟิท จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้โดยรวมยังเป็นการขายเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในตลาดทั่วโลกอยู่ ทั้งตลาดสหรัฐฯที่ปรับตัวลง และตลาดหุ้นอื่นในแถบภูมิภาคก็ปรับตัวลงด้วยเช่นกัน โดยทิศทางตลาดต่างประเทศยังเป็นลบ เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเท่าไรนัก

ส่วนปัจจัยในประเทศ ดัชนีได้รับแรงกดดันจากเรื่องปัญหามาบตาพุด ส่วนเรื่องการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันนี้ไม่ค่อยกังวลเท่าไร เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย และที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอะไรรุนแรง โดยตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยหนุน จึงทำให้อยู่ในลักษณะของการอ่อนตัวลง และแนวโน้มของตลาดฯก็ยังไม่สดใส ช่วงนี้คงอยู่ในลักษณะผันผวนในแดนลบอยู่

สำหรับ แนวโน้มการลงทุนในวันศุกร์นี้(11 ธ.ค.) คาดว่า ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในแดนลบ โดยยังไม่มีปัจจัยบวกหรือลบเข้ามาอย่างชัดเจน แนะติดตามตลาดต่างประเทศว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้หรือไม่ แต่มองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะซึมลงมากกว่า ถ้าบวกก็คงเป็นเพียงฟื้นในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น โดยให้แนวรับ 685, 680 จุด แนวต้าน 700 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น